Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อย่าเขย่า-โยนเด็กเล็ก เสี่ยงโตมาโง่ จากภาวะ Shaken Baby Syndrome (SBS)

อย่าเขย่า-โยนเด็กเล็ก เสี่ยงโตมาโง่ จากภาวะ Shaken Baby Syndrome (SBS)

22 เม.ย. 68
14:34 น.
แชร์

รู้จักภาวะ Shaken Baby Syndrome (SBS) สมองกระทบกระเทือนจากการเขย่า-โยนเด็กเล็ก เสี่ยงโตมา "โง่" บกพร่องทางสติปัญญา

จากคลิปไวรัล ประโยคไม่มีคำหยาบแต่เจ็บจี๊ดของ "ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา" นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 21 เม.ย.68 โดยประโยคดังกล่าว "ดร.ตฤณห์" พูดว่า

"การใช้คำหยาบคายพิมพ์ไปมันง่าย เพราะตอนเด็กๆ แม่อาจอุ้มแล้วเขย่าแรงมากไปหน่อย ทำให้สมองไปกระแทกกับกระโหลกข้างหน้า เลือดออกมากไป ลูกก็เลยโง่ พอโง่เสร็จปุ๊บก็เกิดการขาดความสันทัดในการระงับอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ อยู่ข้างหลัง เหตุผลอยู่ข้างหน้า ก็ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่จะใช้เหตุผลในการพูดได้"

https://www.facebook.com/reel/9621611651233478?locale=th_TH

จริงหรือ? เด็กที่โดนเขย่าแรงๆ สมองไปกระแทกกับกะโหลกข้างหน้า เลือดออกมากไป โตมาเด็กเลยโง่ ? ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Shaken Baby Syndrome หรือ SBS ซึ่งร้ายแรงกว่า โตมาแล้วโง่ คือ กลายเป็นพิการถาวร หรือขั้น เสียชีวิต

Shaken Baby Syndrome (SBS) คืออะไร

Shaken baby syndrome คือ กลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ทำให้ได้รับบาดเจ็บ มีเด็กทารกตายจากสาเหตุดังกล่าวสูงถึง 1 ใน 3 และอีกร้อยละ 30-40 ที่ไม่สามารถรักษาหายเป็นปกติ

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เผยว่า มีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมองโดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี

กลไกการเกิด Shaken Baby Syndrome ผลกระทบในระยะสั้น ระยะยาว

การเขย่าเด็กแรงๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกวัย 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิต เช่น ปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้และสติปัญญา เนื่องจาก กล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรง เมื่อคอและศีรษะถูกเหวี่ยงไปมา โดยการเขย่าจะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง การเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย และอาจลุกลามไปจนถึงทำให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้อีกด้วย

แม้อาการบาดเจ็บภายในส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น แต่มีข้อแนะนำให้สังเกตหลังจากลูกถูกเขย่าอาทิ อาเจียน หายใจติดขัด ดูดกลืนน้ำลายไม่ได้ หน้าผากบวม มีเนื้อปูดออกมาที่ศีรษะ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ โดยต้องแจ้งด้วยว่าเด็กได้รับการเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที

สาเหตุหลัก ๆ ของการเขย่าทารก

1. ความเครียดจากเสียงร้องของทารก

• ผู้ดูแล (พ่อแม่ ญาติ หรือพี่เลี้ยง) มักรู้สึกหงุดหงิดหรือทนไม่ได้เมื่อทารกร้องไห้ไม่หยุด จึงเขย่าเพื่อให้เงียบ

2. ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของทารก

ไม่เข้าใจว่าทารกร้องเป็นเรื่องปกติและเป็นวิธีสื่อสารของเขา

• คิดว่าเขย่าแล้วจะช่วยให้ทารกหยุดร้องหรือสงบ

3. อารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดรุนแรงในขณะดูแลเด็ก

• มักเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ดูแลรู้สึกเหนื่อยล้าหรือมีปัญหาทางจิตใจ

4. ความเครียดทางเศรษฐกิจหรือครอบครัว

• ทำให้ผู้ดูแลไม่มีความอดทนมากพอ

5. ผู้ดูแลขาดประสบการณ์ หรืออายุยังน้อย

• ไม่รู้วิธีรับมือกับพฤติกรรมของทารกอย่างปลอดภัย

ป้องกันได้อย่างไร

• ห้ามเขย่าเด็ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หรือในรูปแบบการหยอกล้อ
• ถ้าเด็กโยเย เครียด ให้วางเด็กในที่ปลอดภัย แล้วพักใจตัวเองก่อน
• ให้ความรู้กับทุกคนที่ดูแลเด็ก (พ่อ แม่ ญาติ พี่เลี้ยง ฯลฯ)
• เรียนรู้วิธีปลอบเด็กอย่างปลอดภัย เช่น อุ้มเบาๆ เดินช้าๆ หรือเปิดเสียงกล่อม

หากสงสัยว่าเด็กอาจมีอาการของ SBS ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะ การวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้

Advertisement

แชร์
อย่าเขย่า-โยนเด็กเล็ก เสี่ยงโตมาโง่ จากภาวะ Shaken Baby Syndrome (SBS)