Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Locked-in Syndrome ภาวะถูกขังในร่าง มีสติรับรู้แต่ขยับตัวไม่ได้

Locked-in Syndrome ภาวะถูกขังในร่าง มีสติรับรู้แต่ขยับตัวไม่ได้

24 เม.ย. 68
16:00 น.
แชร์

รู้จักภาวะอันตราย Locked-in Syndrome วิญญาณถูกขังในร่างกาย มีสติรับรู้แต่ขยับตัวไม่ได้ สาเหตุเกิดจากอะไร วิธีป้องกัน วิธีรักษา

มีสติรับรู้ ได้ยิน มองเห็น ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ โกรธ เจ็บปวด เย็น ร้อน รู็ครบทุกอย่างแต่ พูดไม่ได้! เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เลย! วันดีคืนดีก็น้ำตาไหลออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว บางครั้งเราก็หัวเราะออกมาทำให้คนที่อยู่รอบข้างหลอนไปตามๆ กัน โรคนี้มีอยู่จริง ในทางการแพทย์เรียกว่า Locked-in Syndrome

นพ. ธนีย์ ธนียวัน เป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด อธิบายถึง โรค Locked-in Syndrome หรือ LIS โดยพบว่า

โรค Locked-in Syndrome มีการรายงานว่า พบโรคนี้ตั้งแต่ปี 1966 โดยเจอเคสคนไข้ที่จู่ๆ เหมือนหมดสติกะทันหัน แต่พอเปิดเปลือกตาขึ้นมาพบว่าสามารถสื่อสารด้วยการกลอกตาขึ้นลงตามคำถามที่ป้อนให้ โดยเป็นคำถามง่ายๆ ตอบใช่-ไม่ใช่ YES-NO แค่นั้น แต่ทำอย่างอื่นไม่ได้

บางคนสามารถกะพริบตาได้แต่ไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหว มือ เท้า แขน ขา ได้เลย และบางครั้งมีน้ำตาไหล หรือหัวเราะขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าทำไม

โรคนี้มันคือโรค Stroke หรือ หลอดเลือดมีปัญหาตรงบริเวณก้านสมอง ส่วนที่เรียกว่า Ventral Pons หรือส่วนหน้าของก้านสมองที่อยู่ด้านล่าง เส้นเลือดที่ว่านี้เรียกว่า Basilar artery ถ้าเส้นเลือดนี้มีปัญหา เช่น แตกหรือมีลิ่มเลือดไปอุดตัน หรือบริเวณนี้มีเนื้องอก มีการติดเชื้อ อักเสบอะไรก็ตามแต่ มันจะทำให้สมองส่วน Ventral Pons ขาดเลือด และใน Ventral Pons นั้นมันจะมีทางเดินเส้นประสาทมากมาย ทางเดินเส้นประสาทเหล่านี้ มีหน้าที่ในการควบคุมแขน ขา กล้ามเนื้อการพูด และการแสดงออกทางสีหน้า

แต่ส่วนที่ไม่เสียไป ก็คือส่วนที่อยู่ด้านหลังและด้านบน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของระบบประสาทที่ใช้ในการรับรู้ความรู้สึก เจ็บปวด ร้อน หนาว ทั้งหมดเลย รวมไปถึงเรื่องระบบประสาทอัตโนมัติ ดังนั้น การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต ไม่โดนไปด้วยและเรื่องการรับรู้ของสติก็อยู่ทางด้านหลังเหมือนกัน ตรงนั้นไม่โดน การกลอกตาของเรา กลอกไปด้านข้างจะทำไม่ได้มันเสียไปด้วย แต่กลอกขึ้นลงยังทำได้ บางคนกะพริบตาได้ บางคนไม่ได้

ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคนี้

โอกาสที่จะเกิด Stroke ตรงเส้นเลือด Basilar มีไม่เยอะ แต่ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดคือ คนที่มีความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ ไขมันสูงที่คุมไม่ได้ เบาหวานที่กำเริบและคุมไม่ได้ และคนที่สูบบุหรี่

หากมีปัจจัยเสี่ยงพวกนี้ต้องรีบคุมมันให้ได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นท่านก็จะเกิดความเสี่ยงต่อโรคนี้และ ไม่ใช่ทุกคนที่จะรอดชีวิต และคนที่รอดชีวิตก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกลับมาเป็นปกติ

ปัจจัยความเสี่ยงที่กล่าวมานั้นต้องควบคุมมันให้ได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องของ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ชนิด Atrial Fibrillation แล้วบังเอิญมันมีช่องที่เชื่อมระหว่างหัวใจห้องซ้ายและหัวใจห้องขวา เรียกว่า patent foramen ovale เป็นรูกลมๆ ถ้ามันเกิดลิ่มเลือดเมื่อไหร่แล้วล่ะก็มันสามารถข้ามไปอีกข้างหนึ่งแล้วไปที่สมองของเราได้ เราก็อาจจะมีปัญหาได้ ยังโชคดีหน่อยที stroke บริเวณนี้มันเจอได้ยากหน่อย เหตุผลที่มันเจอได้ยาก ข้อแรกคือ ปริมาณเลือดที่มันใช้ ในทางสมองเราจะแบ่งระบบไหลเวียนเลือดเป็นส่วนหน้าและส่วนหลัง ส่วนหน้าใช้เลี้ยงบริเวณสมองใหญ่ และส่วนหลังเลี้ยงบริเวณสมองส่วนน้อยและก้านสมอง

เส้นเลือดของสมองส่วนหน้า มันต้องใช้เลือดเยอะ เนื่องจากมันต้องเลี้ยงสมองส่วนที่ต้องใช้พลังงานสูง ดังนั้นจึงมีการไหลที่เร็ว แรงและมีปริมาณเลือดเยอะ โอกาสที่เส้นเลือดจะบาดเจ็บมีมากกว่าข้างหลัง ทำให้เวลาที่เกิด stroke มักมีอาการของสมองส่วนหน้าเยอะกว่า เช่น แขนขาอ่อนแรง ขาข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าเป็นขวาก็ขวาทั้งข้าง หรือซ้ายก็ซ้ายทั้งข้าง นี่คือปัญหาของ stroke บริเวณเส้นเลือดฝั่งหน้า ถ้ามันเป็นแล้วน่ากลัวกว่าเยอะ ถ้าแต่ฝั่งหลังถ้าเป็นแล้วมันน่ากลัวกว่าเยอะโดยเฉพาะตรงก้านสมองเพราะถ้าคุณไปโดน Basilar artery เส้นนี้คุณติด ทำอะไรไม่ได้เลย พูดก็ไม่ได้

ถ้าเราเป็น Locked-in Syndrome หมอจะรู้ได้อย่างไร

ข้อแรก มาด้วยอาการ "เหมือน" คนหมดสติ ซึ่งหมอก็ต้องสงสัยว่ามี ภาวะ stroke หรือเปล่า หรือ ลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมองหรือไม่ แน่นอนว่าต้องทำ CT Scan ร่วมกับหาเหตุผลอื่น เช่น น้ำตาลตก หรือ ได้รับสารพิษอะไรหรือไม่ นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงยังเป็นในวัยรุ่นด้วย คือ ผู้ที่ใช้ ยาบ้า หรือ โคเคน ก็จะเสี่ยงกว่าคนปกติเยอะ วัยรุ่นก็เกิดได้ถ้าไปใช้ของพวกนี้

ซึ่งหมอก็จะ CT Scan หรือ MRI ของสมอง ก็จะเจอรอยโรคที่ทำให้ขาดเลือดหรือเลือดออกตรงบริเวณ Ventral Pons หรือ ก้านสมองส่วนล่างด้านหน้า ซึ่งหมอก็จะเปิดเปลือกตาเพื่อดูว่ากลอกตาได้หรือไม่ แต่ต้องระวังเพราะตาจะแห้งต้องใช้น้ำตาเทียมช่วยเพราะมันเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะใช้ในการสื่อสาร

แต่อีกหนึ่งภาวะหนึ่งที่หมอหลายคนอาจจะไม่รู้คือ คนไข้จะมึนหัวมาก ไม่ถามจะไม่มีทางรู้เลย เพราะตรงบริเวณที่มันขาดเลือดหรือทำลายมันมีเรื่องของเส้นประสาทการทรงตัวด้วย ซึ่งถ้ามีปัญหาตรงนี้คนไข้จะมึนหัวง่ายมาก คุณหมอต้องถามด้วยเพราะมันมียาที่สามารถใช้สำหรับระงับอาการได้ด้วย

Locked-in Syndrome ทำให้เกิดความพิการถาวรอย่างรุนแรง

ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า Locked-in syndrome อาการอัมพาตโดยสมบูรณ์เกิดจากการตีบหรือแตกของหลอดเลือดสมองที่เลี้ยงก้านสมอง ซึ่งมีหลอดเลือดผ่านเพียงเส้นเดียวทำให้เกิดความพิการถาวรอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองตีบจนเกิดการตายของเนื้อก้านสมอง จะมีอาการแขนขาเป็นอัมพาตถาวรทั้งสองข้าง ไม่สามารถขยับแขนขาได้อีก รวมถึงไม่สามารถพูดคุยหรือแสดงการสื่อสารทางสีหน้าได้ ถึงแม้ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีตลอดเวลาและหายใจเองได้ แต่จะเคลื่อนไหวได้เพียงการกลอกตาเพื่อตอบสนองสิ่งเร้าเท่านั้น

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดมากที่สุด และเมื่อเกิดภาวะนี้แล้วจะไม่สามารถฟื้นฟูผู้ป่วยให้หายได้ ทำให้พิการติดเตียง การป้องกันไม่ให้เกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

วิธีสังเกตอาการ

กลุ่มอาการ LIS หนึ่งในอาการที่น่ากลัวและนำไปสู่ความพิการรุนแรงที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke วิธีสังเกตอาการเริ่มแรก ได้แก่

• พูดลำบาก

• ปากตก

• ยกไม่ขึ้น

• ปวดศีรษะรุนแรง

• ซึมลง

• เวียนศีรษะ

• เดินเซ

• ตามัวและเห็นภาพซ้อนเฉียบพลัน

• กลืนลำบาก

ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้ จะเกิดขึ้นพร้อมกัน รวดเร็วและรุนแรงทันทีทันใด ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและรักษาทันที โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำหรือใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกภายใน 6-24 ชั่วโมง ตั้งแต่ผู้ป่วยยังมีอาการน้อยจนอาจจะเกือบหายขาดสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การป้องกัน

การป้องกันที่ขาดไม่ได้คือ การรักษาสุขภาพอยู่เสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ติดตามรักษาโรคประจำตัวที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง งดสูบบุหรี่ ล้วนเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ ให้ห่างไกลอัมพฤกษ์อัมพาตมาก

ข้อมูลอ้างอิง : Doctor Tany กรมการแพทย์

Advertisement

แชร์
Locked-in Syndrome ภาวะถูกขังในร่าง มีสติรับรู้แต่ขยับตัวไม่ได้