เปิดหลักเกณฑ์ คัดกรองผู้ป่วย คัดแยกผู้ป่วยวิฤต ผู้ป่วยทั่วไป "สี" สัญลักษณ์ความเร่งด่วนในการรักษา อาการแบบไหนต้องรักษาด่วน แบบไหนรอได้
การคัดแยกผู้ป่วย (Triage) เป็นกระบวนการสำคัญในระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะใน แผนกฉุกเฉิน (Emergency Department) หรือสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
การคัดแยกมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ และจัดลำดับการดูแลรักษาให้เหมาะสม เพื่อให้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ระบบการคัดแยกผู้ป่วยที่ใช้ทั่วไปในประเทศไทยและสากลนิยมใช้ 5 ระดับความเร่งด่วน (Five-Level Triage System) ซึ่งจัดแบ่งตามความรุนแรงของอาการดังนี้
ประเภท : ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
ความเร่งด่วน : อันตรายถึงชีวิต ต้องได้รับการช่วยเหลือทันที
ลักษณะอาการ :
• หมดสติไม่รู้สึกตัว
• การหายใจล้มเหลว
• หัวใจหยุดเต้น
• มีบาดแผลฉกรรจ์ เลือดออกมากควบคุมไม่ได้
• ชักอย่างต่อเนื่อง
• ภาวะช็อก
• แพ้อย่างรุนแรง
ประเภท : ผู้ป่วยฉุกเฉินหนัก
ความเร่งด่วน : ตรวจหลังสีแดงหรือภายใน 10 นาที
ลักษณะอาการ :
• เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน
• อ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน
• มีอาการสับสนหรือซึมลงกว่าปกติ
• งูพิษกัด
• กินสารพิษ
ประเภท : ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน
ความเร่งด่วน : ตรวจหลังสีชมชูหรือภายใน 30 นาที
ลักษณะอาการ :
• ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
• แผลฉีกขาดขนาดใหญ่
• แขนขาบวมผิดรูป
• ปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน
• ไหล่หลุด
• แผลที่กระจกตา
ประเภท : ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง
ความเร่งด่วน : ตรวจหลังสีเหลืองหรือภายใน 60 นาที
ลักษณะอาการ :
• ไข้หวัดตามฤดูกาล
• ปัสสาวะแสบขัด
• ปวดท้อง/ปวดศีรษะไม่รุนแรง
• ข้อเท้าพลิกไม่ผิดรูป
• แผลฉีกขาดเล็กน้อย
ประเภท : ผู้ป่วยทั่วไป
ความเร่งด่วน : ตรวจ OPD ในเวลาราชการ
ลักษณะอาการ :
• ล้างแผล
• ฉีดยาตามนัด
• มารับยาเดิม
• ขอใบรับรองแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการคัดแยกผู้ป่วย (Triage Nurse) จะเป็นผู้ประเมินระดับความเร่งด่วน โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้
1. การสังเกตลักษณะภายนอก (General Appearance)
• การหายใจ สีผิว ระดับการรู้สึกตัว
• พฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น ร้องไห้ ซึม พูดจาไม่รู้เรื่อง
2. การวัดสัญญาณชีพ (Vital Signs)
• ชีพจร
• ความดันโลหิต
• อุณหภูมิร่างกาย
• การหายใจ
• ปริมาณออกซิเจนในเลือด
3. การประเมิน ABC (Airway, Breathing, Circulation)
A : ช่องทางเดินหายใจโล่งหรืออุดตัน
B: หายใจดีหรือไม่ มีเสียงหวีด หายใจเร็ว/ช้า
C: การไหลเวียนโลหิตดีหรือไม่ ผิวซีด เย็น มือเท้าเขียวหรือไม่
4. การซักประวัติแบบย่อ (Focused History)
• อาการหลักที่มา
• ระยะเวลาที่มีอาการ
• อาการร่วมอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอก ไข้ อาเจียน
• โรคประจำตัวหรือยาที่ใช้อยู่ แพ้ยา
การคัดแยกผู้ป่วยเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการสถานพยาบาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การใช้ระบบ 5 ระดับความเร่งด่วน ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตได้รับการดูแลทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ป้องกันการแออัดของผู้ป่วยที่สามารถรอการรักษาได้ โดยมีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินจากลักษณะอาการและสัญญาณชีพ ทำให้การวินิจฉัยและดูแลรักษามีคุณภาพ ปลอดภัย และรวดเร็ว
อ้างอิงข้อมูล : แพทย์ฉุกเฉิน SECSI CMU 1669 , tcep.or.th , hospital.tu.ac.th
Advertisement