Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"เกเลฟู" สนามบินใหม่ของภูฏาน งดงาม ผสานธรรมะและความยั่งยืนแบบติดแกลม

"เกเลฟู" สนามบินใหม่ของภูฏาน งดงาม ผสานธรรมะและความยั่งยืนแบบติดแกลม

30 เม.ย. 68
14:41 น.
แชร์

เปิดภาพ "เกเลฟู" สนามบินใหม่ของภูฏาน ยิ่งใหญ่ งดงาม อลังการ ผสานธรรมะและความยั่งยืนแบบติดแกลม คาดเปิดใช้งานปี 2029

การฝึกสติเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในแวดวงการดูแลสุขภาพในขณะนี้ โดยมีโรงแรม สปา และหลักสูตรต่างๆ มากมายที่เน้นในเรื่องนี้ แต่ประเทศภูฏานที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยกำลังพัฒนาแนวคิดนี้แบบก้าวกระโดด ด้วยการสร้างเมืองแห่งการฝึกสติขึ้นมาทั้งเมือง ที่เรียกว่า Gelephu Mindfulness City (GMC) หรือ เกเลฟูเมืองแห่งสัมมาสติ

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน ทรงเป็นแรงผลักดันสำคัญของโครงการ Gelephu Mindfulness City ซึ่งนอกจากจะทำให้เมืองนี้เปี่ยมพลังแห่ง "สติ" แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างนั่นคือ การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศนี้จะไม่ได้วัดความสำเร็จจาก "ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ" หรือ GDP แต่วัดด้วย "ความสุขมวลรวมในประเทศ" หรือ GNH (Gross National Happiness) ก็ตาม

Gelephu International Airport ท่าอากาศยานนานาชาติเกเลฟู

ท่าอากาศยานนานาชาติเกเลฟู ตั้งอยู่ท่ามกลางความงามตามธรรมชาติอันน่าทึ่งของภูฏาน ท่าอากาศยานแห่งนี้มีความสูง 300.9 เมตร (987.204 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของภูมิประเทศโดยรอบได้ พิกัดของท่าอากาศยานตั้งอยู่ที่ละติจูด 26°53’04.46 เหนือ ลองจิจูด 90°27’50.98 ตะวันออก ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาของภูมิประเทศอันน่าหลงใหลของภูฏาน

สนามบินเกเลฟู จะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ของภูฏาน ต่อจาก ท่าอากาศยานนานาชาติพาโร (PBH) ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่สวยงาม ท้าทาย และอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ท้าทายระหว่างยอดเขาหิมาลัยสองลูก ลมแรงในฤดูมรสุม และไม่มีไฟส่องสว่างบนรันเวย์ ทำให้มีเครื่องบินขนาดเล็กเพียงไม่กี่ลำเท่านั้นที่สามารถบินเข้าหรือออกได้ในแต่ละวัน ซึ่งล้วนเป็นเที่ยวบินระยะสั้นจากเมืองใกล้เคียงในเอเชีย เช่น นิวเดลีและกรุงเทพฯ และด้วยทำเลที่สะดวกใกล้กับอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการทูตและหุ้นส่วนทางการค้าหลักของภูฏาน ทำให้เกเลฟูเป็นทำเลที่เหมาะแก่การเชื่อมโยงทางรถไฟ ถนน และการบิน

“สนามบินแห่งนี้มีความสำคัญต่อ GMC ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ และจะยังเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล” กษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกแห่งภูฏาน ทรงกล่าวในแถลงการณ์

บริษัท Bjarke Ingels Group (BIG) ได้เผยภาพการออกแบบสนามบินเกเลฟู ซึ่งสถาปัตยกรรมและการตกแต่งยึดแนวคิดเกี่ยวกับการใช้องค์ประกอบจากธรรมชาติในการออกแบบและยึดถือปรัชญาของภูฏานนั่นคือ “ความสุขมวลรวมในประเทศ” ซึ่งคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในการวัดคุณภาพชีวิต

ภาพเรนเดอร์แสดงให้เห็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมของสนามบินที่ประกอบด้วยโครงไม้ทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแบบโมดูลาร์หรือแบบแยกส่วน ทำให้ปรับปรุงหรือขยายสนามบินได้ง่ายขึ้นในอนาคตเมื่อมองจากภายนอกในระยะไกลจะคล้ายกับเทือกเขาที่ออกแบบให้ลดหลั่นกันอย่างมีสไตล์ โดยมีฉากหลังเป็นป่ากึ่งเขตร้อน และภูเขาใกล้กับชายแดนภูฏาน-อินเดีย ส่วนประกอบไม้ทั้งหมดถูกแกะสลักและลงสีตามงานฝีมือดั้งเดิม ประดับด้วยมังกรทั้งสามที่เป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของภูฏาน ผลลัพธ์ที่ได้คือความดั้งเดิมแต่ล้ำสมัย ก้าวล้ำและหยั่งรากลึก

อาคารผู้โดยสารขาเข้าจะถูกแบ่งออกเป็นสี่โซน แต่ละโซนเต็มไปด้วยพืชที่มีถิ่นกําเนิดในป่าในท้องถิ่น ส่วนภายในสนามบินเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว และยังมีพื้นที่ให้ผู้โดยสารได้ทำสมาธิ ฝึกโยคะ ฯลฯ ได้สัมผัสกับประสบการณ์การบินที่สงบ ผ่อนคลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใกล้ชิดธรรมชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศภูฏาน

ท่าอากาศยานนานาชาติเกเลฟู คาดว่าจะเปิดให้บริการเบื้องต้นในปี 2029 โดยจะมีรันเวย์ยาว 1,500 เมตร พื้นที่โดยรวมราว 731,946 ตารางฟุต สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 123 เที่ยวบินต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1.3 ล้านคนต่อปี ซึ่งอาจดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสนามบินขนาดใหญ่ เช่น สนามบินฮีทโธรว์ลอนดอน หรือสนามบินเจเอฟเคในนิวยอร์ก แต่สำหรับประเทศภูฏานที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแล้ว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเพียง 316,000 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศภูฏาน มีประชากรประมาณ 750,000 คน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวแบบ "มูลค่าสูงแต่สร้างผลกระทบต่ำ" ผู้เยี่ยมชมประเทศจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการพัฒนาอย่างยั่งยืนวันละ 100 ดอลลาร์ ซึ่งจะนำไปใช้เป็นทุนในการดูแลสุขภาพ การศึกษา และบริการสาธารณะอื่นๆ ในภูฏาน และท่าอากาศยานนานาชาติเกเลฟูแห่งนี้จะเป็นประตูสู่ภูฏาน อัญมณีแห่งหิมาลัย ที่จะมอบประสบการณ์การเดินทางอันล้ำค่าให้กับผู้มาเยือนในอนาคต

ขอบคุณภาพจาก Bjarke Ingels Group (BIG)

Advertisement

รูปภาพทั้งหมด

แชร์
"เกเลฟู" สนามบินใหม่ของภูฏาน งดงาม ผสานธรรมะและความยั่งยืนแบบติดแกลม