ภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย "ติดเชื้อในกระแสเลือด" คืออะไร เผยข้อมูล ไม่ป่วยก็ "ติดเชื้อในกระแสเลือด" ได้ เกิดจากอะไร มีคำตอบ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ
ติดเชื้อในกระแสเลือด คือภาวะที่มีแบคทีเรียก่อโรค รุกล้ำเข้าไปในกระแสเลือด เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อองค์ประกอบแปลกปลอมของเชื้อแบคทีเรีย ปฏิกิริยานั้นอาจทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายเกิดความล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในตำแหน่งอื่นของร่างกาย เช่น
- การติดเชื้อลิ้นหัวใจ
- ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อทางเดินอาหารและตับ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
1.เจ็บป่วย เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่ เราจึงควรใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคก็จะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และกลุ่มภูมิคุ้มกันผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ
3.ปัจจัยอื่นๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ได้แก่ การสวนทวาร การสวนปัสสาวะ และการใช้สายสวนหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ปัจจัยที่ทำให้เกิด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ใช่แค่ร่างกาย "กำลังเจ็บป่วย" เท่านั้น เพราะไม่ป่วยก็ติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ติดเชื้อในกระแสเลือด จากการเข้าห้องน้ำ
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ การที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อโรคที่อยู่ในห้องน้ำส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูล เช่น อุจจาระ ร่วมกับความอับชื้น
เมื่อเราเข้าห้องน้ำสัมผัสถูกพื้นผิว หรือสุขภัณฑ์ที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสก่อโรคต่างๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ แล้วไปหยิบจับของกินเข้าปาก จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ เช่น การติดเชื้อซาลโมเนลลา มักจะพบปนเปื้อนในอุจจาระ หากได้รับเชื้อนี้เข้าไปในร่างกาย อาจทำให้มีอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ในกรณีผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ
2. หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร
3. กลุ่มที่มีโรคประจำตัว จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
หากมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง กินยาไม่รู้สึกบรรเทาและกินยาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการป่วยที่อาจรุนแรงเพิ่มขึ้น
รวบรวมข้อมูลจาก : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
Advertisement