หมอมนูญ เผยเคสคนไข้วัย 84 ปี มีไข้สูง ฟังปอดปกติ คลำท้องไม่เจ็บ ตับไม่โต สุดท้ายวินิจฉัยพบเป็น "โรคฝีในตับ" เผยสาเหตุเกิดจากอะไร
วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยเคสเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยระบุว่า คนไข้วัย 84 ปี มีไข้สูง ฟังปอดปกติ คลำท้องไม่เจ็บ ตับไม่โต สุดท้ายวินิจฉัยพบ ฝีในตับ
"ผู้ป่วยหญิงอายุ 84 ปี เป็นโรคหอบหืด มีไข้สูง 2 วัน หนาวสั่น สับสน ไม่ปวดท้อง ไม่ไอ มาโรงพยาบาล วันที่ 15 มิถุนายน 2567 ความดันโลหิตต่ำ 77/44 มม.ปรอท อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส หัวใจเต้นเร็ว 130 ครั้งต่อนาที ต้องรับเข้าห้องไอซียูทันที
ตรวจร่างกาย มีไข้สูง ฟังปอดปกติ คลำท้องไม่เจ็บ ตับไม่โต
เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวในเลือดสูง 29,300 ค่าเอนไซม์ตับสูงเล็กน้อย SGOT 87, SGPT 73 ทำอัลตราซาวด์ช่องท้องด้านบน พบก้อนในตับข้างซ้ายขนาด 2.8 × 2.4 × 2.4 เซนติเมตร ส่งเลือดเพาะเชื้อ ขึ้นเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae ทำคอมพิวเตอร์ช่องท้อง 2 วันต่อมา พบก้อนขนาด 3.3 × 3.3 × 2.8 ซม.ในตับข้างซ้าย เข้าได้กับฝีในตับ
วินิจฉัย ฝีในตับจากเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae และติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ช็อก ความดันต่ำ
โรคฝีในตับ การรักษา
ให้น้ำเกลือ ยากระตุ้นความดันโลหิต และ ยาปฏิชีวนะ ceftriaxone (ทดสอบแล้วในห้องปฏิบัติการว่าเชื้อตัวนี้ไวต่อยา) ทางหลอดเลือดดำ ได้ทำการเจาะหนองจากฝีในตับผ่านทางหน้าท้อง ได้หนอง 2 ซีซี ส่งหนองเพาะเชื้อขึ้นเชื้อ Klebsiella pneumoniae ตัวเดียวกับในเลือด
หลังได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ คนไข้ดีขึ้น ไข้ลง ความดันกลับมาเป็นปกติ ไม่ปวดท้อง ติดตามอัลตราซาวด์ของช่องท้องด้านบน 18 วันหลังได้ยาปฏิชีวนะ พบฝีขนาดเล็กลงเหลือ 2.1 × 1.9 เซนติเมตร
หลังได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำในรพ. 3 สัปดาห์ กลับบ้านได้ ให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานอย่างน้อยต่ออีก 3 สัปดาห์ และจะติดตามคอมพิวเตอร์ช่องท้องอีกครั้งหลังได้ยาปฏิชีวนะครบแล้ว
คนไข้รายนี้เป็นผู้สูงอายุ ป่วยหนักมาก จากฝีในตับและติดเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae ในกระแสเลือด โชคดีมาโรงพยาบาลเร็ว นอนรักษาในรพ. 3 สัปดาห์กลับบ้านได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : อ้างอิงจาก "สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย" เผยว่า ฝีในตับเกิดจากอะไร ฝีในตับเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทำให้เกิดเป็นหนองในเนื้อตับ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยฝีในตับแบ่งตามเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ที่พบบ่อยคือเชื้อแบคทีเรีย (pyogenic liver abscess) และเชื้ออะมีบา (amoebic liver abscess)
การป้องกันโรคฝีในตับ กรมควบคุมโรค แนะนำว่า
1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
2. ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
3. ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร และน้ำดื่มโดยเฉพาะในการเดินทางท่อง เที่ยว เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคบิด ที่อาจเป็นสา เหตุของฝีตับ
4. ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือปรุงไม่สุก ผัก ผลไม้ ทุกชนิดต้องล้างให้สะอาดโดย เฉพาะเมื่อกินสด
5. ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นโรคฝีตับ
Advertisement