เหวินซงหนาน หรือ โคบา ดาราหนุ่มชาวฮ่องกง วัย 29 ปี ป่วย โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า มะเร็งกระดูกชนิดหายาก เสียชีวิตลงแล้ว หลังเข้ารับการรักษามานาน 1 ปี
เหวินซงหนาน หรือ โคบา ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อปีที่แล้ว โดยในตอนแรกเขาได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็น หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นระยะเวลาประมาณสองเดือน ก่อนที่จะมีการสแกนเพิ่มเติมและพบเนื้องอก
เหวินซงหนาน เปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพของเขาเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม และให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับ โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า เขาพูดเชิงตลกร้ายว่า หนึ่งในล้าน และเขาคือคนที่ถูกเลือก การรักษาตลอดระยะเวลาราว 1 ปี เป็นไปอย่างที่เรียกว่า ประคับประคองอาการ ก่อนที่ เหวินซงหนาน จะจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา
โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า คือมะเร็งอะไร
กรมการแพทย์ ระบุว่า โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า เป็น โรคมะเร็งของกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน พบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่มีความชุกที่สุดในผู้ป่วยช่วงอายุ 10-20 ปี
โรคมะเร็งอีวิงซาร์โคม่า พบบ่อยใน กระดูกรยางค์ ทั้งแขนและขา แต่ช่วงต้นขาและรอบเข่าจะพบบ่อยที่สุด แต่ในบางครั้ง อาจจะพบในตำแหน่งกระดูกส่วนแกนกลางร่างกาย เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกเบนเหน็บ หรือกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรวจพบยากกว่า เนื่องจากลึกกว่า จึงมักปรากฏอาการช้า
โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า อาการ
อาการที่พบ เมื่อตัวโรคกำเนิดที่กระดูกรยางค์ ได้แก่ ปวด บวม คลำได้ก้อน บางครั้งอาจจะพบอาการที่คล้ายการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดของโรคเป็นเซลล์ที่คล้ายกับเซลล์ของกลุ่มโรคที่มีการอักเสบและติดเชื้อ ในขณะที่อาการที่พบในผู้ป่วยที่มีรอยโรคในกระดูกแกนกลางลำตัว จะมีอาการปวดบริเวณรอยโรคหรือปวดร้าวไปบริเวณอื่น อันเนื่องจากมีการกดทับหรือเบียดเส้นประสาท ส่วนการคลำก้อนจะทำได้ยากกว่าก้อนที่อยู่บริเวณรยางค์ นอกเสียจากก้อนมีขนาดใหญ่มากๆ จนนูนบวมออกมา
โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า วิธีรักษา
การรักษาโรคมะเร็งอีวิงซาร์โคม่าที่ได้รับการวินิจฉัยและเริ่มต้นการรักษาอย่างรวดเร็วมักจะได้รับผลการรักษาที่ดี โดยการรักษาประกอบด้วย การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดและการฉายรังสีรักษาร่วมกัน การให้เคมีบำบัดจะให้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อนและลดอัตราการแพร่กระจายของโรค เพื่อให้การผ่าตัดนำก้อนออกให้เกลี้ยงแบบเป็นวงกว้างสามารถทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนการฉายรังสีรักษาจะนิยมใช้ในกรณีที่ไม่สามารถนำก้อนออกแบบเป็นวงกว้างได้ทั้งหมด หรือผ่าตัดแล้วพบว่านำก้อนออกไม่หมดซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ยาก เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกเบนเหน็บ หรือกระดูกสันหลัง เป็นต้น ซึ่งการฉายแสงนี้จะช่วยลดขนาดและลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของตัวโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง
Advertisement