Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ตรวจฮอร์โมน ไม่ว่าหญิงหรือชาย จำเป็นหรือไม่ ตรวจแล้วช่วยอะไรบ้าง ?

ตรวจฮอร์โมน ไม่ว่าหญิงหรือชาย จำเป็นหรือไม่ ตรวจแล้วช่วยอะไรบ้าง ?

2 ส.ค. 67
17:03 น.
แชร์

ตรวจฮอร์โมน หรือ การตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย จำเป็นอย่างไรถึงต้องตรวจ ตรวจแล้วช่วยให้สุขภาพดีจริงหรือ ?

เพราะมีหลายคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับฮอร์โมนอย่างชัดเจน จนบางครั้งเกิดความละเลย และหลายคนอาจเคยประสบปัญหาต่าง ๆ เพราะฮอร์โมนในร่างกายไม่คงที่ กล่าวคือฮอร์โมนเป็นหนึ่งในสารเคมีสำคัญของร่างกาย ที่เกิดจากการสร้างของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญคือการควบคุม การดูแลการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใด หญิง ชาย หรือแม้กระทั่งชาว LGBTQ+

ในร่างกายของมนุษย์เราประกอบไปด้วยฮอร์โมนหลากหลายชนิด เมื่ออายุที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ปริมาณฮอร์โมนก็อาจบกพร่องลงตามอายุขัย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติหรืออาการเจ็บป่วยตามมาได้ ตรวจฮอร์โมน หรือการ ตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย จึงเป็นอีกหนึ่งเทคนิคทางการแพทย์ ที่จะช่วยให้ทราบได้ว่า ตอนนี้มีอะไรที่ผิดปกติในร่างกายเพราะฮอร์โมนหรือไม่ และเพื่อประโยชน์แก่ทุกคน Amarin ได้รวบรวมข้อสงสัยสำหรับการ ตรวจฮอร์โมน มาไว้ให้ในบทความนี้แล้ว!

ฮอร์โมน คืออะไร ?
ฮอร์โมนเป็นสารที่ถูกผลิตมาจากต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ให้เกิดการทำงานหรือหยุดทำงาน จากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งผ่านกระแสเลือด มีความสำคัญอย่างมากต่อทุกระบบการทำงานในร่างกาย หากปริมาณการหลั่งฮอร์โมนในร่างกายมีความผิดปกติ อาจส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายโดยรวมได้ หากเข้ารับการตรวจรักษาไว ก็ยิ่งสามารถวางแผนการรักษาเพื่อสุขภาพที่ดีได้ไว

pic2

ทำไมถึงต้อง ตรวจฮอร์โมน ?
เพราะความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเพศใด ช่วงวัยไหน หากเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่ไม่สมดุล อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องได้ อีกทั้งแต่ละเพศ แต่ละช่วงวัย ต่างก็มีชนิดและปริมาณฮอร์โมนที่แตกต่างกันไป เช่น ฮอร์โมนเพศ, ฮอร์โมนที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโต, ฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญ, ฮอร์โมนควบคุมการนอนหลับ

หากเกิดความแปรปรวนที่ระบบเหล่านี้ อาจเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วยได้ หลายครั้งผู้ป่วยที่เข้ามารักษาแบบฉุกเฉิน แพทย์ไม่อาจสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนหรือไม่ ทำให้เกิดความอันตรายและการรักษาที่ล่าช้า ดังนั้นแล้ว การตรวจฮอร์โมนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ใครที่ควรเข้ารับ การตรวจระดับฮอร์โมน
การตรวจระดับฮอร์โมนอาจไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน แต่จำเป็นและสำคัญกับผู้ที่มีอาการผิดปกติ เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดทางสุขภาพ เช่น อ้วนง่าย น้ำหนักขึ้นเร็ว อ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาการใดอาการหนึ่ง หรือมีหลายอาการเกิดขึ้นพร้อมกัน การเข้ารับการตรวจวัดระดับฮอร์โมน จะช่วยในการวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและตรวจุด

นอกจากนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีอายุมาก ตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนได้เช่นกัน เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในการดูแลตัวเอง โดยในแต่ละกลุ่ม มีความแตกต่างที่เกมาะสมในการตรวจฮอร์โมนไป ดังนี้

  • การตรวจฮอร์โมนสำหรับเพศชาย
    ส่วนใหญ่แล้วในเพศชาย มักเข้ารับการตรวจฮอร์โมนที่มาจากปัญหาทางเพศ เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยนิยมตรวจดังนี้
    • ตรวจฮอร์โมนทั่วไป อาทิ โกรทฮอร์โมน, ฮอร์โมนต่อมหมวกไต, ฮอร์โมนอินซูลิน, ฮอร์โมนไทรอยด์
    • ตรวจฮอร์โมนเพศ อาทิ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน, Luteinizing hormone, Follicle stimulating hormone
  • การตรวจฮอร์โมนสำหรับเพศหญิง
    โดยส่วนใหญ่แล้ว เพศหญิงมักเข้ารับการตรวจฮอร์โมน เพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติ ที่มักเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ที่ปรับระดับไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMS), อาการปวดประจำเดือน, เป็นสิวมาก, ปวดไมเกรน เป็นต้น โดยนิยมตรวจดังนี้
    • ตรวจฮอร์โมนทั่วไป อาทิ โกรทฮอร์โมน, ฮอร์โมนต่อมหมวกไต, Dehydroepiandrosterone sulfate, ฮอร์โมนอินซูลิน, ฮอร์โมนไทรอยด์
    • ตรวจฮอร์โมนเพศ อาทิ Estradiol Hormone, ฮอร์โมนโปรเกสเตอโรน, Luteinizing hormone, Follicle stimulating hormone, Sex Hormone Binding Globulin
  • การตรวจฮอร์โมนสำหรับกลุ่ม LGBTQ
    ส่วนใหญ่แล้ว การตรวจฮอร์โมนสำหรับกลุ่มเพศทางเลือก มักเป็นการตรวจเพื่อปรับใช้ฮอร์โมน ให้ตรงกับเพศวิถีที่ตนเองเลือก มีทั้งการปรับเพื่อให้มีความเป็นหญิงมากขึ้น และการปรับเพื่อให้มีความเป็นชายมากขึ้น ซึ่งต้องแบ่งการตรวจให้ตรงกับเพศสถานะสอดคล้องของตนเอง โดยแบ่งตรวจดังนี้
    • สำหรับเพศชาย ที่ต้องการปรับฮอร์โมนให้ตรงกับอัตลักษณ์เพศ จำเป็นต้องตรวจฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน และตรวจฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน เพื่อให้แพทย์สามารถให้ยาเทคฮอร์โมน หรือยากดฮอร์โมนเพศได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
    • สำหรับเพศหญิง ที่ต้องการปรับฮอร์โมนให้ตรงกับอัตลักษณ์เพศ อาจต้องตรวจฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน เพื่อใช้ในการคำนวณปรับระดับเทสโทสเตอโรนได้อย่างเหมาะสม

pic3

อาการบ่งบอก ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

  • ร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออกกลางคืนเวลานอน
  • หงุดหงิดง่าย
  • ผิวแห้ง
  • ความรู้สึกทางเพศหรือสมรรถภาพทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • อาการช่วงก่อนมีประจำเดือนมาก (PMS)
  • นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น
  • รู้สึกว่าความจำไม่แจ่มชัดเท่าเดิม
  • รับความเครียด ความกดดันในชีวิตประจำวันได้ลดลง
  • เหนื่อยล้าง่าย ต้องการกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีรสหวาน
  • ลดน้ำหนักยาก รู้สึกว่าการเผาผลาญแย่ลง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ออกกำลังกายแล้วไม่ได้เป้าหมาย การฟื้นตัวหลังออกกำลังช้าลง

 

ทำไมต้องตรวจฮอร์โมนเพศทั้งเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจน

  • เอสโตรเจน (Estrogen) คือฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่ออารมณ์ทางเพศ สมรรถภาพทางเพศ และการผลิตสเปิร์ม อีกทั้งยังส่งผลต่อการแข็งแรงของกระดูกในผู้ชาย หากผู้ชายมีเอสโตรเจนสูงเกินไปก็จะทำให้กล้ามเนื้อหาย สะสมไขมันได้ง่ายขึ้น มีบุตรยาก สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงเช่นเดียวกัน ถ้าผู้หญิงมีเทสโทสเตอโรนมากเกินไป ก็อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ผิวมัน สิวขึ้น ขนดก ตรวจพบถุงน้ำที่รังไข่

pic4

 

วิธีการเตรียมตัวก่อน ตรวจฮอร์โมน

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ควรเข้ารับการตรวจในช่วงเช้า เป็นช่วงที่สามารถตรวจระดับฮอร์โมนได้แม่นยำที่สุด
  3. สำหรับเพศหญิงที่ต้องการตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิง แนะนำให้เข้ารับการตรวจในวันที่ 21 ของรอบเดือน
  4. หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการตรวจ

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจฮอร์โมนไปพร้อม ๆ กับการตรวจสุขภาพ สามารถงดน้ำงดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจตามแพทย์แนะนำได้

วิธีดูแลตัวเอง หลังการตรวจระดับฮอร์โมน
เมื่อพบความไม่สมดุลของฮอร์โมน แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงการใช้วิตามิน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพ และช่วยปรับการทำงานของฮอร์โมน ทั้งนี้หากพบความผิดปกติที่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม แพทย์จะทำการส่งต่อให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

ที่มา : โรงพยาบาลสมิติเวช (samitivejchinatown.com) / โรงพยาบาลพญาไท (phyathai.com)

Advertisement

แชร์
ตรวจฮอร์โมน ไม่ว่าหญิงหรือชาย จำเป็นหรือไม่ ตรวจแล้วช่วยอะไรบ้าง ?