รู้จักเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ "การฝากไข่" อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้หญิง พร้อมเป็น แม่ ในวันที่ใช่ ฝากไข่วิธีเตรียมตัว ฝากไข่แพงไหม ค่าใช้จ่ายเท่าไร เช็กรายละเอียดเบื้องต้น
ในยุคปัจจุบัน ผู้หญิงอย่างเราๆ กว่าจะ "มั่นคง" ในหน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์กับคู่รัก อยู่ในจุดที่ "มั่นใจ" ซึ่งกันและกัน พร้อมสร้างครอบครัวไปด้วยกัน "ผู้หญิง" ก็อาจจะล่วงเลยช่วงวัยที่เหมาะกับการมีลูกไปแล้ว เทคโนโลยีการ "ฝากไข่" จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ประสงค์ "เป็นแม่เมื่อพร้อม"
การฝากไข่ คืออะไร
การฝากไข่ คือการเก็บรักษาไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยนำไข่ที่สภาพดีและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แช่แข็งในห้องปฏิบัติการ โดยใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิประมาณ -195 องศาเซลเซียส ทำให้เซลล์หยุดการทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งมาทำลายเซลล์ ทำให้ยังคงรักษาประสิทธิภาพของเซลล์ไว้ในสภาพเดิมได้
และเมื่อถึงเวลาพร้อมที่จะมีบุตรแล้ว ก็จะนำไข่มาผสมกับอสุจิ โดยเป็นการปฏิสนธิภายนอก เมื่อเป็นตัวอ่อนแล้วก็นำกลับไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เกิดการปฏิสนธิและเจริญเป็นตัวอ่อนในครรภ์
อายุที่เหมาะสมต่อการฝากไข่
โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้มาฝากไข่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 25-35 ปี หากอายุมากกว่านี้ก็สามารถฝากได้ แต่ควรมาปรึกษาและประเมินร่างกายกับแพทย์เบื้องต้น
การใช้ไข่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติได้มากกว่า เพราะยิ่งอายุมากขึ้นไข่อาจมีโครโมโซมที่ผิดปกติ
การฝากไข่ ราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายการฝากไข่ของแต่ละโรงพยาบาล, คลินิก ราคาจะไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะเป็น โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ราคาจะเริ่มต้นที่ 1 แสนบาท ไปจนถึงกว่า 3 แสนบาท
วิธีเตรียมตัว เตรียมร่างกายก่อนฝากไข่
1. สร้างสมดุลให้ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีโปรตีนสูง ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดขนมขบเคี้ยว
2. ไม่ควรรับประทานอาหารหลัง 6 โมงเย็น
3. พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ฝึกควบคุมและจัดการกับความเครียด
4. พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ฝึกควบคุมและจัดการกับความเครียด
5. การรับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้า อย่างน้อยเป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน จะช่วยกระตุ้นจังหวะการหลับตื่น (Sleep Cycle) ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้เรานอนหลับพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น
6. เข้ารับการปรึกษาโดยแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ ประวัติสุขภาพ หาโรคแฝง โรคทางพันธุกรรม รวมถึงกระบวนการต่างๆ ของการฝากไข่ คำแนะนำเรื่องวิตามินที่ต้องกินเสริมในช่วงก่อนและหลังฝากไข่
7. เมื่อเข้าสู่กระบวนการฝากไข่แล้ว ข้อปฏิบัติหลังการฝากไข่ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ข้อควรรู้ โรคที่ฝากไข่ไม่ได้ อาการข้างเคียงอันเกิดจากกระบวนการฝากไข่
ข้อจำกัด ที่ไม่สามารถ ฝากไข่ ได้
การฝากไข่ มีข้อจำกัดในผู้หญิงที่มีปัญหาโครโมโซมผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่างๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์
การฝากไข่มีความเสี่ยงหรือไม่
การใช้ฮอร์โมนระหว่างการกระตุ้นไข่ อาจทำให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกิน ผลที่ตามมาทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ เป็นต้น และในขั้นตอนการเก็บไข่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดูดไข่ออกมา อาจทำให้เกิดเลือดออก ส่งผลให้มีอาการปวดท้องน้อยประมาณ 1-2 วัน หรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในช่องท้องได้
อ้างอิงข้อมูล : ภญ. กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, BNH, บำรุงราษฎร์, inspireivf
Advertisement