Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อัปเดตสถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ในไทยหลัง WHO จ่อยกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังพบระบาดในทวีปแอฟริกาต่อเนื่อง

อัปเดตสถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ในไทยหลัง WHO จ่อยกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังพบระบาดในทวีปแอฟริกาต่อเนื่อง

15 ส.ค. 67
17:51 น.
|
333
แชร์

อัปเดตสถานการณ์ โรคฝีดาษลิง ในไทยหลัง WHO เตรียมพิจารณายกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังพบระบาดในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยเด็ก

สคร.12 สงขลา แนะนําประชาชนเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Mpox) พร้อมเน้นย้ำเป็นป้องกันได้ โดย WHO เตรียมพิจารณาประกาศยกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หลังสถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่เพิ่มขึ้นในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยเด็ก

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม - 14 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยยืนยัน 136 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยเป็นเพศชาย 134 ราย และเพศหญิง 2 ราย สำหรับ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยยืนยัน 8 ราย ไม่พบผู้มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ทั้งหมดเพศชาย และสัญชาติไทย อายุระหว่าง 22 - 43 ปี พบในจังหวัดสงขลาทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง คือ มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่รู้จัก

อาการของโรคฝีดาษวานร ที่พบบ่อย ได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน โดยจะเกิดขึ้นหลังมีความเสี่ยงประมาณ 5-21 วัน หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน ระหว่างรอผลตรวจ แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

สำหรับผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแล้ว สามารถแพร่เชื้อได้ และจะพ้นระยะแพร่เชื้อเมื่อตุ่มหรือแผลแห้งและแผลหายดีแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลา ประมาณ 2-4 สัปดาห์

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัย/ ผู้ป่วยฝีดาษวานร/ผู้ที่มีผื่น/ตุ่มสงสัย ให้รีบพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้าน หรือติดต่อศูนย์หาดใหญ่นวรัตน์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ซึ่งให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/ คัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและสนับสนุนถุงยางอนามัย หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

โรคฝีดาษลิง

Advertisement

แชร์
อัปเดตสถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ในไทยหลัง WHO จ่อยกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังพบระบาดในทวีปแอฟริกาต่อเนื่อง