รู้จัก "โรคลมหลับ" หมอมนูญยกเคสคนไข้หญิง วัย 22 ปี ง่วงนอนมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อดนอน โรคนี้รักษาไม่หายขาย ต้องกินยากระตุ้นให้ตื่น
วันที่ 19 ส.ค.67 หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยเคสผู้ป่วย "โรคลมหลับ" เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยระบุว่า
"ผู้ป่วยหญิง อายุ 22 ปี เริ่มง่วงนอนมากผิดปกติตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อดนอน นอนวันละ 8 ชั่วโมง กลางวันง่วงมาก ต้องเผลอหลับทุกวัน หลังงีบหลับตื่นขึ้นมาสดชื่น บางครั้งมีหูแว่วและเห็นภาพหลอนขณะกำลังจะตื่น เวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ นานๆ ครั้งมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไม่นอนกรน ไม่มียาประจำ ไม่ขับรถ
น้ำหนัก 48 กิโลกรัม สูง 159 เซนติเมตร
ความดัน 100/70 ตรวจร่างกายทุกอย่างปกติ
เข้ารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ ใช้เวลา 4 นาทีหลับได้ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ในเวลาเพียง 1 นาที (หลังจากเริ่มหลับคนปกติคลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นหลับฝันต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาที) ไม่พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
หลังจากหลับเต็มที่แลัว เช้าวันรุ่งขึ้น ทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางวันเป็นช่วงๆ ในห้องปฏิบัติการ Multiple Sleep Latency Test (MSLT) โดยให้ผู้ป่วยพยายามงีบหลับทุก 2 ชั่วโมง 5 รอบตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถ้าหลับจะอนุญาตให้งีบหลับได้เพียง 15 นาทีแล้วถูกปลุกให้ตื่น ขณะงีบหลับมีการตรวจคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และการกลอกตา ผู้ป่วยหลับง่ายได้ทั้ง 5 รอบใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีจากดับไฟจนกระทั่งเริ่มหลับ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ทั้ง 5 รอบในเวลา 1-8 นาที ซึ่งถือว่าผิดปกติเข้าได้กับโรคลมหลับ
วินิจฉัย : โรคลมหลับ (Narcolepsy)
เลือกให้ยา Nuvigil (Armodafinil) 150 มิลลิกรัมตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง เพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่รุนแรง หลังกินยาผู้ป่วยไม่ง่วง มาง่วงอีกครั้งตอน 5 โมงเย็นหลังยาหมดฤทธิ์
โรคลมหลับ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มียาหลายชนิดช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ยากระตุ้นให้ตื่น เช่น Armodafinil มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมหลับ ตื่นในเวลากลางวันหลังกินยาตอนเช้าทุกวัน อาการง่วงนอนดีขึ้น ไม่หลับง่ายเหมือนแต่ก่อน คนที่เป็นโรคลมหลับ ห้ามขับขี่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา เพราะอาจหลับขณะขับเป็นอันตรายต่อทั้งคนขับและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคลมหลับ
จากการสืบค้นเบื้องต้น อ้างอิงข้อมูลการแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า สาเหตุของโรคลมหลับยังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้มีความผิดปกติที่สมองควบคุมการหลับและตื่น โดยมีการหลับแทรกเข้ามาในขณะที่ยังตื่นอยู่ อาการของโรค เช่น ง่วงนอนตลอดเวลา แขนขาอ่อนแรงขณะจะตื่น (ผีอำ) เห็นภาพลวงตาช่วงที่จะหลับ
โรคนี้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช พบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยบางรายมีสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า hypocretin ต่ำกว่าปกติ นักวิจัยบางรายได้เสนอ ว่าโรคนี้เกิดจาก ความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยภายนอกบางอย่าง
ผู้ป่วยโรคลมหลับควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะนอกจากอาการของโรคนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว หากเกิดภาวะหลับฉับพลันในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับรถ หรือกำลังใช้อุปกรณ์มีคม ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดอันตรายต่อตนเอง รวมถึงผู้อื่นด้วย
Advertisement