โรคหลอดเลือดสมอง รู้ตัวก่อนได้ ด้วยสัญญาณเตือน หากไม่ดูแลตัวเองให้ชัดเจน ยิ่งเสี่ยงต่ออาการ เส้นเลือดในสมองแตก
ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไปตามช่วงวัย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายคนเมาได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร่งด่วน
ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ได้ระบุว่า ประชากรคนไทยเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองแตกถึงร้อยละ 21.13 และในปี 2567 ที่ยังไม่ครบปีมีสูงถึงร้อยละ 20.77 ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย หรือส่งโรงพยาบาลทันในเวลาเร่งด่วน จะสามารถลดความพิการและการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วย จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก
เส้นเลือดในสมองแตก คืออะไร
เส้นเลือดในสมองแตก เป็นหนึ่งในโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก เป็นผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนเกิดเป็นอาการสมองขาดเลือด เซลล์ต่าง ๆ จะถูกทำลายจนเกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
กลุ่มเสี่ยง เส้นเลือดในสมองแตก
โดยปกติกลุ่มเสี่ยงหลอดเลือดสมอง คือ ผู้ป่วยวัยสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพราะการเสื่อมของอวัยวะตามกาลเวลา ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะถดถอยลง ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดสมองเสื่อมเกิดมากขึ้น ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุม ไขมันสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ผู้ที่ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ ออกกำลังประจำ เลี่ยงอาหารประเภทแป้งและไขมัน รวมไปถึงอาจพบหลอดเลือดสมองแตก ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่าที่พบโดยทั่วไป ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
อาการโรคหลอดเลือดสมอง
สัญญาณ BE FAST สัญญาณฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมอง
1. สูญเสียการทรงตัว (B-Balance)
มักเกิดขึ้นจากผลกระทบของเส้นเลือดในสมองแตก ในตำแหน่งสมองที่เกี่ยวกับทักษะการทรงตัว และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ และระบบประสาทต่าง ๆ สังเกตได้จาก การเดินเซ คล้ายกับว่าเดินสะดุดอะไรบางอย่าง นั่งหรือยืนไม่มั่นคง พยายามจับราวหรือกำแพงตลอดเวลา
2. ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด (E-Eyes)
การมองเห็นมักมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาการที่พบบ่อยมักเป็นอาการตาพร่ามัวกะทันหัน แต่อาจมีอาการอื่น ๆ เกี่ยวกับดวงตาได้อีก เช่น มองเห็นภาพด้านข้างไม่ชัด ในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง, การมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นเฉียบพลัน, มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยว, มองเห็นภาพมืดหรือสว่างขึ้นเฉียบพลัน และปวดตา
3. หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว (F-Face)
เป็นอาการโรคหลอดเลือดสมองที่ชัดเจนมากอาการหนึ่ง มักเกิดขึ้นทันทีหลังเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน เกิดจากผลกระทบที่สมอง ส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานได้ไม่เต็มที่
4. แขนขาอ่อนแรง (A-Arms)
มีสาเหตุเดียวกันกับอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แต่ปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อ จะเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่แขนหรือขา หากรู้สึกถึงอาการอ่อนแรงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน
5. พูดติดขัด ออกเสียงลำบาก (S-Speech)
การพูดติดขัดมักเกิดขึ้นกะทันหัน แต่ปัญหาของคนที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอาการที่เกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวกับการพูดทำให้มีอาการพูดติดขัด เปล่งเสียงลำบาก ออกเสียงไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดตะกุกตะกัก
6. อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (T-Time)
เมื่อเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน เนื้อเยื่อสมองจะขาดเลือดกะทันหัน ส่งผลให้ระบบประสาทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบฉับพลัน หากมีสัญญาณ BE FAST ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงแรก มีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตเป็นอย่างมาก หากช้าไปกว่านั้น อาจส่งผลให้เซลล์สมองตาย และฟื้นตัวยากขึ้น
การรักษาหลอดเลือดสมองแตก หายได้หรือไม่ ?
เพราะความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือเส้นเลือดสมองแตก ถือเป็นเรื่องที่ตื่นตัวในประเทศไทยอย่างมาก อาจด้วยเพราะอาการคล้ายกับคนเมา จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าปกติ ทั้งนี้ก็ยังคงมีคำถามว่า จะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ซึ่งทางการแพทย์ยืนยันว่าจะสามารถรักษาหายได้ และมีโอกาสรอดชีวิต หากเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โดยวิธีการรักษามี 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด
วิธีการป้องกัน หลอดเลือดสมองแตก
วิธีการป้องกันหลอดเลือดสมองแตก เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถดูแลได้ก่อนเกิดโรคจริง เพราะเมื่อเกิดโรคแล้ว ย่อมมีความเสียหายที่กระทบต่อการดำรงชีวิตไม่มากก็น้อย วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดทำได้ไม่ยาก หากใส่ใจและรักในสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงการตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรู้ถึงอาการของโรคได้อย่างรวดเร็ว ก็สามารถรักษาและป้องกันร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท (phyathai.com) / Hfocus (hfocus.org) / โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (rama.mahidol.ac.th)
Advertisement