Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ในราชสำนัก ที่รวมวันสำคัญไว้ในวาระเดียวกัน

ย้อนพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ในราชสำนัก ที่รวมวันสำคัญไว้ในวาระเดียวกัน

9 เม.ย. 68
19:21 น.
แชร์

รู้จัก "พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์" ฉลองวันสงกรานต์ในราชสำนัก ที่อดีตเคยจัดรวมหลายเทศกาลเข้าไว้ด้วยกัน

สงกรานต์ คือ เทศกาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งกำหนดตามสุริยคติ ปกติตกระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งวันที่ 13 เมษายน คือ วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน คือวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือ วันเถลิงศก ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลวันสงกรานต์ยังคงมีอยู่ตามเดิม

ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (วันสิ้นปี) พระราชพิธีเถลิงศกสงกรานต์ (ขึ้นปีใหม่) และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) เข้าด้วยกัน เรียกว่า พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 2 เมษายน และถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นพระราชพิธีสงกรานต์ที่เคยมีในวันที่ 13 เมษายน จึงงดไป

พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ ประกอบด้วยพระราชกรณียกิจหลายอย่าง ได้แก่ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อพระเจดีย์ทราย สวดมนต์ฉลองพระเจดีย์ทราย ถวายข้าวบิณฑ์ สรงน้ำพระพุทธรูป พระบรมอัฐิและพระอัฐิ พระราชทานน้ำสงกรานต์และผ้านุ่งห่มแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้สูงอายุ สมเด็จพระสังฆราช และขุนนางผู้ใหญ่ที่สูงอายุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อมีพระโอรสพระธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เจริญพระชันษาครบกำหนดที่จะโสกันต์เกศากันต์ (โกนจุก) ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์เกศากันต์ในพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ด้วย

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม เมื่อพุทธศักราช 2484 การพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ จึงเปลี่ยนชื่อเรียกว่า พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ มีกำหนดพระราชพิธี 3 วัน ได้แก่

วันที่ 31 ธันวาคม 1 มกราคม และ 2 มกราคม ซึ่งจัดให้มีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล คือ วันที่ 31 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม เวลาเช้า นิมนต์พระสงฆ์รับอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง วันละ 150 รูป

วันที่ 31 ธันวาคม เวลาบ่าย คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระหรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมุหพระราชพิธีอ่านประกาศกระแส พระบรมราชโองการเรื่องการขึ้นปีใหม่ จบแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ 1 มกราคม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์

ในวันดังกล่าว สำนักพระราชวัง ได้จัดสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ลงพระนามและข้าราชกาประชาชนลงนามถวายพระพรชัยมงคลที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 10 นาฬิกา จนถึงเวลา 16 นาฬิกา (ได้ยึดถือทำเนียบเรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน)

วันที่ 2 มกราคม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิพระราชวงศ์ที่หอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีสงกรานต์ในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช 2489 แต่ยังทรงพระเยาว์ และยังต้องประทับศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้ฟื้นฟูราชประเพณีบำเพ็ญพระราชกุศลเทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศล 4 วัน คือ วันที่ 13-16 เมษายน

ครั้นถึงพุทธศักราช 2511พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลดจำนวนวันบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีสงกรานต์ โดยรวมการพระราชกุศลที่จะทรงปฏิบัติในการพระราชพิธีสงกรานต์ทั้ง 4 วัน คงเหลือเพียงวันที่ 15 เมษายนวันเดียว ด้วยมีพระราชดำริว่า วันที่ 13 เมษายน พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาในการพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง อาจจะติดกิจนิมนต์ของราษฎร ทั้งนี้ ยังคงเรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ โดยถือธรรมเนียมปฏิบัติพระราชพิธีตามเดิม

ภายหลังพระราชพิธีสงกรานต์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์เชิญน้ำสรงและผ้าไตรไปถวายสมเด็จพระสังฆราช และเชิญน้ำสรง ผ้านุ่งผ้าห่มและเงินพระราชทาน ไปถวายพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่มีพระชันษาสูง

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล : หน่วยราชการในพระองค์

Advertisement

แชร์
ย้อนพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ในราชสำนัก ที่รวมวันสำคัญไว้ในวาระเดียวกัน