Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เทคนิคสอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า สอนลูกอย่างไรให้ปลอดภัยในสังคม

เทคนิคสอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า สอนลูกอย่างไรให้ปลอดภัยในสังคม

10 ก.ค. 67
13:56 น.
|
498
แชร์

เทคนิคสอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ยิ่งเป็นตัวช่วยให้ใช้ชีวิตบนความปลอดภัยในสังคมได้ไว

ข่าวการหายตัวของเด็ก หรือข่าวเด็กถูกลักพาตัว นับเป็นข่าวใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กที่หายตัวไป ยังเป็นเด็กอายุน้อย ที่ต้องคอยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง ดังตัวอย่างข่าวการหายตัวไปของน้องอุ๊งอิ๊ง อายุ 3 ขวบ ถูกชายคนหนึ่ง อ้างว่าเป็นผู้ปกครองมารับ ก่อนที่จะหายไปจากโรงเรียน ซึ่งต่อมาภายหลังพบว่า เป็นอดีตแฟนของแม่ เหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตเด็ก

คำสอนโบราณ ห้ามลูกคุยกับคนแปลกหน้า
เมื่อย้อนกลับไปในวัยเด็ก หลายคนมักเคยได้ยินคำว่า "ห้ามคุยกับคนแปลกหน้า" นับเป็นกฎเหล็กของหลายบ้าน เพราะตั้งมั่นว่าการพูดคุยกับคนอื่นที่ไม่รู้จัก จะเป็นต้นเหตุของความอันตราย อาจเป็นเรื่องร้ายที่นำมาซึ่งการสูญหายของลูกหลานได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น บางคนกลับลืมคิดไปว่า "อันตรายต่อลูกเกิดได้ แม้เป็นคนคุ้นหน้า"

ในปัจจุบัน การห้ามไม่ให้คุยกับคนแปลกหน้า ควรเปลี่ยนวิธีเป็นการสอนให้ระวังตัวมากกว่า เพราะหากเกิดเป็นเหตุพลัดหลง ที่ไม่ใช่การถูกลักพาตัว การสอนให้ลูกขอความช่วยเหลือจากคนอื่น อาจเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ลูกปลอดภัยจากอันตรายอื่นได้ แต่ขณะเดียวกัน หากเป็นการจงใจเข้าหา เพื่อสร้างอันตรายให้กับลูก ควรที่จะสอนให้เข้าใจและป้องกันตัวเองมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น

  • สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ หากมีคนชักชวนให้ติดตาม หรือออกห่างจากสายตาผู้ปกครอง
  • สอนให้ลูกรู้จักตะโกนขอความช่วยเหลือ หากเกิดการจับเนื้อต้องตัว หรือความรุนแรงเกิดขึ้น
  • สอนให้ลูกรู้จักชุด เครื่องแบบ หรือการแต่งกายของแต่ละอาชีพ เพื่อขอความช่วยเหลือหากพลัดหลง

 

คนแปลกหน้าที่อันตราย ไม่เท่ากับคนที่แสดงออกถึงความน่ากลัว
เด็กส่วนใหญ่มักระวังคนแปลกหน้า ที่ให้ความรู้สึกถึงการคุกคาม คนที่ดูใจร้าย หรือดูน่ากลัว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่จงใจก่อเหตุอันตรายกับลูกหลาน อาจเป็นคนที่ดูใจดี หรือมีไมตรีมากกว่านั้น บางครั้งอาจเป็นญาติหรือคนรู้จักของคนในครอบครัว รวมไปถึงอดีตแฟน อดีตคนรัก อดีตสามี หรืออดีตภรรยา ซึ่งวิธีการสอนให้ลูกจดจำบุคคล หรือตัดสินความอันตรายจากรูปลักษณ์ภายนอก ควรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ไม่คุ้นชินจะดีกว่า

สิ่งสำคัญที่หลายบ้านอาจจะลืมไปคือ การส่งเสริมให้เด็กเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง บางครั้งเด็กอาจมีความรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ หรือรู้สึกถึงความแปลกประหลาด แต่ผู้ใหญ่มักตัดสินใจไปก่อน บางครั้งการสอนให้ลูกเชื่อในความรู้สึกแรกของตัวเอง ที่รู้สึกถึงอันตราย โดยย้ำเสมอว่าหากรู้สึกไม่ปลอดภัย ควรเดินออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว และขอความช่วยเหลือทันที

การสอนให้ลูกอยู่ในกฎระเบียบเป็นเรื่องที่ดี แต่การสอนให้ลูกรู้จักสัญชาตญาณและการเอาตัวรอด ย่อมเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่า เพราะบางครั้งผู้ปกครองไม่อาจจับตามอง หรือไม่สามารถปกป้องเด็กจากคนแปลกหน้าได้ตลอดเวลา การสอนให้ลูกรู้จักสังเกตพฤติกรรมที่ล้ำเส้น จะเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่จะช่วยให้ลูกปลอดภัย

 

เทคนิคสอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า

1. อย่าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว แม้กระทั่ง 1 นาทีก็ไม่ได้
การปล่อยให้ลูกคลาดสายตา ถึงแม้เพียงเวลาไม่นาน แต่การที่ผู้ปกครองไม่ได้โฟกัสที่ลูก หรือใส่ใจอย่างอื่นไปด้วยระหว่างนั้น อาจเป็นความเสี่ยงขั้นแรก ที่ทำให้เกิดกรณีเด็กหายหรือถูกลักพาตัวได้ ฉะนั้นแล้วการจูงมือ การใช้สายจูงเด็ก หรือนาฬิกาติดตาม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันอันตรายที่อาจเกิดได้ ต่อให้จะรู้สึกถึงความแปลกประหลาดของสายตาคนอื่น แต่เพื่อป้องกันอันตรายก็ช่างมันเถอะ

2. สอนเด็กให้ชัดเรื่องการแยกแยะคนแปลกหน้า
คนแปลกหน้าไม่จำเป็นต้องดูมุ่งร้ายตลอดเวลา บางครั้งคนที่แต่งตัวเรียบร้อย หรือดูปกติในสายตาผู้ใหญ่ ก็ไม่น่าไว้ใจได้เช่นกัน อีกทั้งคนร้ายเหล่านี้ มักมีพฤติกรรมล่อลวงด้วยความใจดี ให้ขนม พูดคุยด้วยเสียงหวาน หรือแม้กระทั่งการขออุ้ม ควรสอนให้ลูกปฏิเสธหรือเดินหนี เมื่อมีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ระหว่างที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ได้อยู่ใกล้

3. สอนให้สังเกตคนที่น่าไว้ใจได้ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ
เมื่อพาลูกหลานออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือแม้กระทั่งระหว่างทางไปโรงเรียน พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า หากเกิดเหตุการณ์พลัดหลง หรือคับขัน ลูกควรที่จะขอความช่วยเหลือจากคนไหน อาจเป็นการชี้ให้ลูกสังเกตชุด การแต่งกาย หรือเครื่องแบบ ของคนรอบข้างก็ได้ เช่น สอนให้รู้จักเครื่องแบบตำรวจ รปภ. คุณครู โดยย้ำเสมอว่า การปล่อยมือพ่อแม่ไปเจอสถานการณ์น่าลำบากใจ ควรขอให้คนอื่นช่วยด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การร้องไห้ หรือการตะโกนคำว่าช่วยด้วย

4. สอนให้ลูกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงเข้มแข็งและชัดเจน
บางบ้านอาจมีวัฒนธรรมการให้ภายในครอบครัว โดยใช้คำว่าผู้ใหญ่ให้ต้องรับไว้ แต่ควรย้ำกับลูกอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า หากเป็นการต้องรับของ ขนม เงิน หรือเดินตามคนแปลกหน้า กรณีแบบนี้สามารถปฏิเสธได้ และควรที่จำปฏิเสธด้วยความเด็ดขาด หากข้ออ้างบางอย่างเกี่ยวข้องกับครอบครัว ก็ควรที่จะมีโค้ดลับ หรือสัญญาณเตือนบางอย่างที่รู้กันภายในครอบครัวเท่านั้น เช่น โค้ดฝากให้คนอื่นมารับ โค้ดมารับช้า ฯลฯ

5. สอนให้ลูกพกข้อมูลติดต่อของพ่อแม่หรือผู้ปกครองตลอดเวลา
การให้ลูกพกข้อมูลติดต่อของครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้รอดพ้นจากอันตราย ควรย้ำให้ลูกพกติดตัวให้เป็นนิสัย พร้อมทั้งกำชับตลอดเวลาว่า หากไม่เจอพ่อแม่หรือคลาดสายตากัน ไม่สามารถตามหากันได้ในบริเวณดังกล่าว ให้เอาข้อมูลนี้ให้กับคนที่น่าไว้ใจได้ ดูน่าเชื่อถือให้ขอความช่วยเหลือ

6. สอนให้ลูกรู้จักคำว่าความปลอดภัย
บางครั้งเด็กอาจจะยังไม่สามารถแยกแยะอันตรายได้อย่างถูกต้อง พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถึงแม้จะเป็นคนสนิท เป็นญาติ หรือเป็นคนรู้จักของพ่อแม่ แต่ก็ไม่ควรที่จะไว้ใจทุกอย่าง บ้านไหนที่ให้ลูกพกโทรศัพท์ อาจจะใช้สิ่งนี้เป็นการยืนยันตัวตนอีกสิ่ง พร้อมทั้งอธิบายความสำคัญให้ลูกรู้ว่า การไปไหนมาไหนโดยที่พ่อแม่ไม่ได้รับปากหรือตอบรับ จะเกิดความอันตรายอย่างไรกับลูก และต้องให้เด็กเข้าใจและปฏิบัติตามว่า หากไม่ได้รับคำอนุญาต ไม่ควรทำไปโดยพลการ

 

การปลูกฝังให้ลูกรู้จักอันตราย เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรพึ่งกระทำนั่นก็คือ การระวังข้อมูลส่วนตัวของลูกหลานที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย บางครั้งรูปที่อวดลงโซเชียล อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับคนร้าย ที่วางแผนมาโดยเฉพาะได้เช่นกัน การไม่ลงรูปหรือข้อมูลส่วนตัว พร้อมทั้งย้ำกับลูกเสมอว่า ไม่ควรให้ข้อมูลติดต่อกับใคร หากไม่ใช่คนสนิท ที่สำคัญพ่อแม่ควรมีรูปถ่ายของลูกที่เป็นภาพปัจจุบันติดไว้ด้วย

นอกจากนี้ หากป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว ยังเกิดเป็นเหตุสุดวิสัย เกิดการหายตัวไปจริง หรือลูกหลานถูกลักพาตัวไปแบบผิดปกติ สามารถแจ้งความได้เลย โดยไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมง ให้เข้าข่ายกระบวนการคนหาย พร้อมทั้งติดต่อแจ้งประชาสัมพันธ์คนหายได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-7752673 หรือที่เพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา หรือที่เว็บไซต์ http://www.backtohome.org/

จริงอยู่ที่การป้องกัน การปลูกฝังเรื่องอันตรายจากการถูกลักพาตัว อาจเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรสร้างความกดดันให้เด็กมากเกินไป เพราะจากการจดจำและจำตาม อาจจะกลายเป็นความเครียดภายในใจ จนกลายเป็นอาการกลัวการเข้าสังคมในระยะยาวได้ การค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ให้เด็กเข้าใจถึงความสำคัญนี้ต่างหากที่ถูกต้อง

 

ที่มา : Teaching Kids to Be Smart About Strangers | KidsHealth / Preventing Abductions | KidsHealth

Advertisement

แชร์
เทคนิคสอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า สอนลูกอย่างไรให้ปลอดภัยในสังคม