กรมอุทยานฯ สั่งเร่งขึ้นทะเบียนนกกรงหัวจุกเลี้ยงที่ถูกกฎหมายให้หมด ลดขั้นตอนยุ่งยากพร้อมรับฟังเหตุผลการขอถอดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ ได้มีข้อเสนอจากภาคประชาชนในพื้นที่อยากให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาการผ่อนคลายการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง “นกกรงหัวจุก” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งมีการจัดการแข่งขันเสียงร้องในหลายภูมิภาค รวมถึงมีการเพาะเลี้ยงในกรงจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องการขออนุญาตค้าและครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิดให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเร่งหารือร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกพื้นที่ในการลดขั้นตอนการปฏิบัติที่ยุ่งยากเป็นภาระกับประชาชน ผู้ประสงค์ แจ้งครอบครองเพาะพันธุ์หรือค้านกปรอดหัวโขนโดยให้ใช้มาตรการเชิงรุกในการให้บริการทุกประเภทให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เข้มงวดกับการลักลอบดักจับนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ
สำหรับการยื่นขออนุญาต สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง ที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่างจังหวัด ยื่นได้ที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 หรือสาขาทุกสาขา กรณีหากมีเหตุอันควรสงสัย เช่น ชนิด จำนวน เครื่องหมาย สามารถสอบถามรายละเอียด ได้ที่ ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โทร. 0 2579 4621 หรือสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362
นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก มีสีสันที่สวยงาม มีเสียงอันไพเราะ จึงเป็นที่นิยมในแง่ของสัตว์เลี้ยง และประกวดเสียงร้องเช่นเดียวกับนกเขาชวา ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก ลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ แต่เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง จากข้อมูลการรายงานสรุปผู้ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ค้า ครองครอง นกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน มีนกโปรดหัวโขนที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย จำนวน 134,325 ตัว จากผู้ขอขึ้นทะเบียน จำนวน 11,466 ราย ซึ่งจำนวนผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนจริง ๆ มีมากกว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตที่ถูกต้อง โดยได้รับการยืนยันจากประธานชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2566 พบว่ามีการกระจายตัวของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในป่าโปร่งที่อยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน
Advertisement