ชาวนาจวก โครงการปุ๋ยคนละครึ่งมันสร้างหนี้ ซัดรัฐบาลชุดนี้ เอาเกษตรกรไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง สู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ ที่ให้แบบไม่มีเงื่อนไข
วันที่ 1 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของชาวนา หรือเกษตรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถึงโครงการสนับสนุนการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยให้เกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วม โครงการปุ๋ยคนละครึ่งได้ ผ่านแอปพลิเคชั่น BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 67ที่ รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง อายุ 58 ปี ชาวบ้าน ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธ์ข้าวชุมชนสาวะถี กล่าวว่า จริงๆ แล้วโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เริ่มต้นจากเกษตรกรรวมตัวกันเข้าไปคุยกับกรมการข้าว เรื่องเงินสนับสนุนปุ๋ยสูตรแตกกอ และสูตรแตกรวง การพูดคุยก็เข้าใจกันทุกฝ่าย
จากนั้นกรมการข้าวก็ดำเนินการต่อ โดยนำเรื่องเข้ากรรมาธิการแล้วก็ออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์เกษตรกร ยิ่งช่วงนี้หาเงินยาก และยังจะให้เกษตรกรเอาเงินไปสมทบที่ ธ.ก.ส.ก่อนถึงจะได้ปุ๋ย ถ้าเกษตรกรรายไหนไม่มีเงินไปสมทบจะทำอย่างไร สรุปเกษตรกรรายนั้นจะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากโครงการนี้เลย ถ้าเปรียบเทียบรัฐบาลนี้กับรัฐบาลลุงตู่ สู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้เลย ห่างไกลกันมาก เพราะรัฐบาลลุงตู่ให้เกษตรกรจริงๆ ให้แบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งโครงการเครื่องจักรกลโครงการอินทรีย์ล้านไร่ ที่เกี่ยวกับเกษตรกร แต่รัฐบาลนี้เหมือนเอาเกษตรกรไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เอาไปเป็นเครื่องเล่น ถ้าโครงการนี้ถ้าใครไม่มีเงินสมทบก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเหมือนเป็นการสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรเพิ่ม ถ้าไม่มีเงินก่อนจะทำอย่างไร
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ยังมีอะไรหลายอย่างไม่ชัดเจน เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง เป็นกระบวนการที่มีความยุ่งยาก เพราะตอนนี้เงินทองหายากเศรษฐกิจก็ไม่ดี เกษตรกรหาเช้ากินค่ำมีหนี้สินครัวเรือนแล้วยังจะต้องหาเงินไปซื้อปุ๋ยอีก ถ้าจ่ายเป็นเงินมาช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรเลยแล้วให้เกษตรไปเลือกซื้อปุ๋ยสูตรไหนก็เรื่องของเกษตรกร เพราะเกษตรกรจะรู้ดีกว่าใครว่าพื้นที่ไหนควรใช้ปุ๋ยอะไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก และร้านค้าปุ๋ยก็จะมีการแข่งขันกันและลดราคาแข่งกัน เป็นผลดีกับเกษตรกรมากกว่า แต่ถ้าจะช่วยเหลือแบบไร่ละ 500 บาท แต่ไม่มีค่าเก็บเกี่ยวก็ไม่ต้องมาช่วยดีกว่า เพราะเงิน 500-1,000 บาท มีความหมายมากกับชาวนา ถ้าไม่มีเงินตรงนี้มาช่วยเหลือ และการกำหนดราคาปุ๋ยมา ไร่ล ะ1,000 บาท ถ้าเกษตรกรซื้อปุ๋ยไม่ถึงกระสอบละ 1,000 บาท เงินที่เหลือหรือเงินทอนที่เหลือจะเข้ากระเป๋าใคร เงินส่วนนี้จะไปอยู่ไหน ทางที่ดีโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเหมือนเดิมให้เกษตรกรไปบริหารจัดการเองจะดีกว่า
Advertisement