คปก. อนุมัติงบกว่า 53 ล้านบาท พัฒนาโครงการปรับปรุงระบบบริหารจัดการ
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 5/2567 ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้มีมติการพิจารณาวาระต่าง ๆ ได้แก่
- มีมติเห็นชอบโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ
- โครงการจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ (ทดแทน,ใหม่) เป็นงบลงทุน จำนวนเงินทั้งสิ้น 44,262,920 บาท (สี่สิบสี่ล้านสองแสนหกหมื่นสองพันเก้าร้อยยี่สิบบาทถ้วน) โดยให้ทางส่วนกลางเป็นผู้จัดซื้อและกระจายไปยังส่วนจังหวัด ทั้ง 72 จังหวัด
- โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและเผยแพร่ข้อมูลแผนที่ เป็นงบลงทุน จำนวนเงินทั้งสิ้น 8,964,600 บาท (แปดล้านเก้าแสนหกหมื่นสี่พันหกร้อยบาทถ้วน)
- มีมติให้ปรับปรุงคำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 3/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน เพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
- พิจารณาอนุมัติไม่ประสงค์จะนำที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่พลเมืองเลิกใช้ร่วมกันแล้วมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินตลอดไป จำนวน 3 แปลง
- แปลง “ที่สงวนเลี้ยงสัตว์พาหนะสาธารณประโยชน์” ในท้องที่ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 19-0-61 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 307-2-27 8/10 ไร่
- แปลง “ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์กุดไผท” จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 17-2-66 ไร่ และ เนื้อที่ประมาณ 19-2-64 ไร่ ในท้องที่ตำบลระแงงอำเภอศรีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์ บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 17-2-66 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 358-3-30 ไร่
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “ในการประชุม คปก. ครั้งนี้ได้มีการอนุมัติเห็นชอบในวาระต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นชอบอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งโรงเรียนและอาคารกีฬาอเนกประสงค์ รวมถึงเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ โดยไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 2 แห่ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ตระหนักถึงความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันและอนาคต”