เทรนด์การบริโภคผักปลอดสารอาหารปลอดภัย ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการลดสารเคมีที่จะเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น ยังเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกและสิ่งแวดล้อมในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำด้วย
นางสาววิภาวี สีสว่าง สมาชิกสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด เจ้าของไร่แสงตะวัน หนึ่งในผู้ที่หันเหวิถีชีวิตมาเดินบนเส้นทางอาชีพเกษตรกรและยึดหลักการทำเกษตรผสมผสานปลอดภัย เล่าให้เราฟังว่า เดิมทีทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในเมือง แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวและอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อยากปลูกผักที่ปลอดภัยไว้บริโภคเองและขายเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน จึงตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรผสมผสาน บุกเบิกไร่แสงตะวัน บนพื้นที่ 15 ไร่ โดยได้มีการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกและการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบไปด้วย พื้นที่ปลูกพืชผักหมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน และไม้ผลต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือน แต่ยังสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สะเดา สามารถสร้างรายได้รายปี มะเขือยาว ผักกูด สร้างรายได้รายสัปดาห์และรายวัน ผลผลิตเน้นส่งแม่ค้าภายในชุมชนก่อน จากนั้นจึงส่งขายที่ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี ศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้และของสดแหล่งใหญ่ของไทย
วิภาวี ยังเล่าถึงการเป็นสมาชิกของสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด ว่าทางสหกรณ์ฯ ได้ให้คำแนะนำและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในการทำการเกษตร เช่น การปรับปรุงสภาพดิน การเพาะปลูกตามหลักเกษตรปลอดภัย การพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์โครงเหล็กโรงเรือนปลูกผักปลอดสาร รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการเกษตร ที่เข้ามาส่งเสริมทั้งด้านองค์ความรู้และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรมีความมุ่งมั่นตั้งใจ พัฒนาการทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตยิ่งขึ้นไป
ด้าน นายชูเกียรติ พุฒแก้ว รองประธานสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด กล่าวเสริมว่า สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด เป็นหนึ่งในสหกรณ์เป้าหมายที่ได้เข้าร่วมโครงการและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรปลอดภัยในสถาบันเกษตรกร ในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการแนะนำส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ทำการเกษตรแบบปลอดภัยติดต่อกันมาหลายปี ทั้งการมุ่งพัฒนาองค์ความรู้การผลิตพืชปลอดภัยให้ไปสู่การได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP หรือ PGS และจะได้ยกระดับไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการจัดหาช่องทางจำหน่ายรองรับผลผลิตของสมาชิก
“ผักที่สหกรณ์ส่งเสริมให้สมาชิกปลูก อาทิ คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ โดยใช้เทคนิคการปลูกในโรงเรือนครอบด้วยมุ้ง หรือเรียกว่า “ผักกางมุ้ง” เพื่อป้องกันหนอนและแมลงศัตรูพืช ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ได้ปรับเปลี่ยนวิถีมาทำการเกษตรแบบไร้สารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรผู้ปลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายชูเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
Advertisement