ปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จากปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" ทำให้มีฝนมาก และเสี่ยงเกิดน้ำท่วมตามมา ยังไม่รวมสภาวะ "โลกร้อน" ที่กว่า 10 ปีให้หลัง โลกของเราเสื่อมโทรมไปมาก
นับแต่เดือนสิงหาคม ประเทศไทยเกิดอุทกภัยใหญ่หลายจังหวัด ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ทำให้ปริมาณฝนบ้านเราและประเทศใกล้เคียงตกสะสมมากกว่าปกติ อย่างที่ จ.เชียงราย ก็ท่วมหนักหลายจุด ชนิดที่ว่าน้ำตีล้อมเมือง จุดไหนใกล้ริมแม่น้ำกก จุดนั้นไม่มีทางรอด ที่ อ.แม่สาย อ่วมสุด ๆ บ้าน 2 ชั้นจมไปแล้วชั้นครึ่ง จุดที่ลุ่มต่ำก็ท่วมมิดหลังคา ประชาชนติดค้างนับพันชีวิต ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากองค์กร มูลนิธิ เจ้าหน้าที่ อาสา กู้ภัย หน่วยทหารในพื้นที่ ที่เข้าไปช่วยชีวิตจนวันสุดท้ายที่ชะล้างเอาดินโคลนออก
ภาพที่เห็น คือ ความสามัคคีของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ พร้อมใจหลั่งไหลกันขนอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน สิ่งของจำเป็น พุ่งตรงมาที่ จ.เชียงราย ถนนแทบทุกสายเต็มไปด้วยรถกู้ภัย รถบรรทุก ออฟโรด เห็นแล้วทำให้หวนคิดถึงเหตุการณ์หมูป่าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ไม่มีผิด
ที่ไม่แพ้กัน และไม่คาดคิดว่าจะท่วม คือตัวเมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชนิดที่ว่าชาวบ้านต้องเปิดแอปฯ เช็กระดับน้ำเป็นรายชั่วโมง ท้ายที่สุดก็เอ่อท่วมเขตเศรษฐกิจหนักสุดในรอบ 100 ปี แม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ ทำลายสถิติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม แตะระดับ 5.30 เมตร ชาวบ้านต่างหอบลูกจูงหลานหนีน้ำ บางคนหนีไม่ทันก็ตามมีตามเกิด เพราะต่างก็ไม่คาดคิดว่ามวลน้ำจะมหาศาลเพียงนี้
ส่วนที่ อ.แม่แตง ก็เกิดดรามา เพราะช้างที่ศูนย์บริบาลช้าง ENP ของแม่เล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ หนีน้ำออกมาไม่ทัน จนเกิดเหตุสลด ช้าง 2 เชือกถูกพัดไปตามกระแสน้ำเชี่ยวจนถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้ อุทกภัยภาคใต้ในปลายปี 2567 จากอิทธิพลของมรสุมที่พาดผ่านช่วงเวลานี้ทุกปี แต่เมื่อถามชาวบ้านต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำปี้นี้แรงและเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว แทบขนของไม่ทัน เพราะฝนตกหนักปริมาณมาก ทำให้มีน้ำท่วมรอบนี้ 6 จังหวัด ไล่มาตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง รวมกับฝนตกสะสมมาก่อนหน้านี้เดิมมีน้ำท่วมอยู่ก่อนแล้ว 5 จังหวัด ทำให้ในรอบ 2 เดือนผ่านมา เกิดน้ำท่วมภาคใต้รวม 11 จังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า นับแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2567 ประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่หลายพื้นที่ของประเทศ รวมแล้ว 57 จังหวัด โดยรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อนุมัติงบเยียวยาเหมาจบ ราคาเดียว จ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีก 10,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือล้างโคลนบ้านเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ
อย่างไรก็ดี แม้อุทกภัยจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การเตือนภัย การให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเปิดเผยจากหน่วยงานภาครัฐนั้น เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง อย่างน้อย ๆ หากรู้ก่อน ก็อาจลดความเสียหายที่ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน สำคัญไปกว่านั้น คือ ชีวิตของพี่น้องประชาชน
Advertisement