Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ก.เกษตรฯ สั่งกรมฝนหลวง ปราบฝุ่น PM2.5 เริ่มธันวาคม นี้

ก.เกษตรฯ สั่งกรมฝนหลวง ปราบฝุ่น PM2.5 เริ่มธันวาคม นี้

28 พ.ย. 67
15:58 น.
|
105
แชร์

กระทรวงเกษตรฯ ขานรับนโยบายรัฐบาล มอบกรมฝนหลวงฯ รับมือฝุ่นจิ๋ว เร่งปฏิบัติการบรรเทาฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เริ่มธันวาคมนี้

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ว่า ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคมของทุกปี ประเทศไทยมักประสบกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากสาเหตุการเผาป่า การก่อสร้าง การคมนาคม และการทำอุตสาหกรรม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน และได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อีกทั้งภายใต้นโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คำนึงผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ จึงได้มีมาตรการป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยเน้นย้ำว่าการปฏิบัติการเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มุ่งดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคเหนือ และพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อบรรเทมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด

"วันนี้ต้องการมาติดตามสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งได้มอบหมายกรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติงานในเชิงรุก โดยจากการขึ้นบินสำรวจยังพบว่ามีการเผาในบางจุด จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งเป้าหมายว่าการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดผลกระทบจาก PM 2.5 ในครั้งนี้ มีตัวชี้วัดว่าจะต้องเห็นดอยสุเทพในทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบน้องที่สุด" นายอิทธิ กล่าว

ด้านนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแล้ว ยังมีภารกิจการบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบปัญหาเป็นประจำทุกปีด้วย ในปี 2568 นี้ กรมฯ ขานรับนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดทำแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2568 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน การสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ ป้องกันการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน โดยมีแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567 - วันที่ 30 เมษายน 2568 จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ (1) หน่วยฯ จ.ระยอง (2) หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี (3) หน่วยฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (4) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ (5) หน่วยฯ จ.แพร่ (6) หน่วยฯ จ.ตาก โดยจัดเตรียมเครื่องบิน จำนวน 13 ลำ ได้แก่ เครื่องบินขนาดใหญ่ (ชนิด CN 235 ) จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง (ชนิด CASA) จำนวน 5 ลำ และ เครื่องบินขนาดเล็ก (ชนิด CARAVAN) จำนวน 6 ลำ ปฏิบัติการฝนหลวงและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ จำนวน 3 เทคนิค ได้แก่

1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง

3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะต้องอาศัยทิศทางลมเป็นตัวกำหนดในการก่อเมฆเพื่อให้ลมพัดพาเมฆเข้ามาในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหากลมมาจากทิศตะวันออกจะปฏิบัติการจากฐานที่ตั้ง จ.ระยอง หากลมมาจากทิศตะวันตก จะปฏิบัติการมาจากฐานที่ตั้ง จ.กาญจนบุรี สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จะกำหนดโซน ความสูง และช่วงเวลาการบินให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามกฎการบินสากล รวมถึงระมัดระวังพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่กำลังเก็บเกี่ยวในฤดูนี้อีกด้วย โดยขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ากรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นายราเชน กล่าว

Advertisement

แชร์
ก.เกษตรฯ สั่งกรมฝนหลวง ปราบฝุ่น PM2.5 เริ่มธันวาคม นี้