เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 65 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณากรณีที่นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม และขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของบุตรสาว คือ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงชื่อดัง โดยมีแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นายศตวรรษ เศรษฐกร หรือ เต๊ะ ตัวแทนครอบครัวแตงโมร่วมด้วย
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีการใช้เครื่องจับเท็จกับบุคคลบนเรือ 5 คนในคดีแตงโม กล่าวว่า การใช้เครื่องจับเท็จไม่ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลคนนั้นกระทำความผิด เพราะแม้แต่ศาลก็ไม่ได้รับรองเรื่องการใช้เครื่องจับเท็จ
เครื่องจับเท็จเป็นเครื่องมือ เป็นเทคนิคของการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น ไม่สามารถบอกว่าใครทำผิดได้ เพราะการใช้เครื่องจับเท็จ ต้องมีการตั้งคำถามให้บุคคลที่ถูกนำเข้าเครื่องตอบ แปรผลออกมาผ่านความดัน เหงื่อ อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งผู้ที่ทำผิดแล้วมีประสบการณ์ก็อาจจะนิ่ง นไม่สามารถสรุปได้ว่าผิด หรือคนที่ไม่ผิดก็อาจจะตื่นเต้นจนความดันขึ้น
ตนมองว่าเครื่องจับเท็จประโยชน์น้อย สิ่งสำคัญคือตำรวจต้องทำงานให้รวดเร็วและยุติธรรม ยึดโยงจาก 3 อย่างคือ พยานบุคคลในที่เกิดเหตุ พยานวัตถุในที่เกิดเหตุ และนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้จากผู้ตาย ผู้ต้องสงสัย ว่าจุดไหนจะไปเข้าหรือขัดแย้งกับผู้ต้องสงสัยได้
โดยเครื่องจับเท็จมักนำมาพิสูจน์กับผู้ต้องสงสัยที่มีข้อมูลพอสมควรแล้ว และมีข้อมูลที่ยังปกปิด ตำรวจก็จะนำเครื่องจับเท็จมาใช้ในทางจิตวิทยา แล้วนำผลมาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ผู้ต้องสงสัยพูดมีความเป็นไปได้หรือไม่ การที่อ้างว่าพยานยังให้การขัดกัน จึงจำเป็นต้องเข้าเครื่องจับเท็จนั้น การให้การขัดกันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องผิด เพราะบางครั้งเป็นการขัดกันเนื่องจากเห็นคนละมุม ต้องดูว่าขัดกันในสาระสำคัญหรือไม่
ส่วนเรื่องกระโปรงสีขาวของแตงโมที่มีข่าวว่าหายไป ตนเชื่อว่าตำรวจก็ตามหาตั้งแต่แรก เพราะมีภาพที่ปรากฏว่าแตงโมใส่ก่อนเสียชีวิต แต่ถามว่าเจอแล้วหรือยังไม่เจอก็ไม่แน่ใจ เพราะตำรวจอาจจะไม่บอกข้อมูล ซึ่งกระโปรงก็ถือว่าเป็นหลักฐานที่นำมาตรวจพิสูจน์ได้ แต่ก็สามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าเมื่อจมน้ำ กระโปรงหลุดได้ หรืออาจจะมีการโยนทิ้งหลังเกิดเหตุ เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องตรวจสอบ แต่ไม่อยากให้ชี้นำว่ากระโปรงหายไปแล้วมีเงื่อนงำ
โดยคดีนี้ไม่ได้ซับซ้อน แต่สิ่งที่ยากคือจะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ เพราะแตงโมเป็นดารา มีแต่บุคคลรัก ผู้ก่อเหตุอาจเป็นคนรวยไฮโซ สังคมยิ่งอยากตรวจสอบ และตำรวจเป็นองค์กรที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่หิวแสงเข้ามาพูดจาโน้มน้าวทำให้สังคมยิ่งเชื่อ รวมถึงโซเชียลที่ทำเกินจริง หรือสื่อเองที่นำเสนอจนสังคมปั่นป่วน
รศ.นพ.วีรศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีการแนะนำให้ใช้เครื่องจับเท็จล่าสุดนั้น ที่จริงมีการถูกหยิบมาพูดคุยตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุแรก แต่ถูกปัดตก เพราะตำรวจบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการของการเข้าเครื่องจับเท็จจะเกิดขึ้นหลังจากมีการสอบปากคำ แล้วก็ไม่ได้มีการระบุในกฎหมายว่าจะต้องมีระยะเวลาหรือเงื่อนไขในดำเนินการเมื่อไร ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน อย่างยกตัวอย่างคดีของน้องชมพู่ก็มองว่ากระบวนการเข้าเครื่องจับเท็จค่อนข้างที่จะช้า เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเตรียมการมาก่อน ในการตอบคำถาม
โดยกระบวนการจะมีการพูดคุยส่วนตัวกับผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะมีการใช้ชุดคำถามโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นคนตั้งคำถาม และจะมีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต เหงื่อ และลักษณะท่าทางที่แสดงออก ซึ่งชุดคำถาม 3 ชุด 1.คำถามทั่วไป 2.คำถามเกี่ยวกับในคดี 3.คำถามย้อนอดีต โดยผู้เชี่ยวชาญจะมีการนำผลการเต้นของหัวใจมาประมวลผล พร้อมกับหลักฐานกล้องวงจรปิดที่ตรวจจับพฤติกรรมท่าทางของผู้เข้ากระบวนการจับเท็จว่ามีพฤติกรรมผิดปกติจากเดิมอย่างไรบ้าง ในช่วงที่มีการถามคำถามที่ค่อนข้างกดดัน
หลังจากได้ผลแล้วจะนำมาประกอบในการวิเคราะห์กับหลักฐาน ไม่ได้การันตีว่าคนนี้โกหกแล้วจะต้องมีความผิด ซึ่งจะนำส่งให้กับพนักงานสอบสวน แต่เทียบเท่าว่าเป็นพยานหลักฐานทางคดีชิ้นหนึ่ง เหมือนกับหลักฐานกล้องวงจรปิด ซึ่งเชื่อว่าการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีการแนะนำให้ใช้เครื่องจับเท็จ ก็อาจจะมีส่วนจากที่สังคมให้ความสนใจ และเชื่อว่าจะมีการใช้งานจริง และใช้ระยะเวลาไม่นานก็ได้ผล หลายคดีก็มีการใช้เครื่องจับเท็จ แต่เป็นคดีที่สังคมไม่ได้จับตาเท่านั้นเอง
สำหรับข้อมูลประเภทของไวน์ มีความเข้มข้นของ alc. 12% ต่อขวด ถ้าดื่ม 3 แก้ว แก้วละ 100 cc จะได้ค่า alc. 100 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ใกล้เคียง 93 ที่ตรวจพบเลือดจากนัยน์ตาของแตงโม
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ตามปริมาณ alc. อาการคือถ้าอยู่ในช่วง 100% จะเพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับการยับยั้งช่างใจ พูดมาก ยังพอมีสติ ไม่ถึงขั้นเดินเซหรือสับสน, ปริมาณ alc. 150 % มีอาการพูดไม่รู้เรื่อง สับสน เดินเซ ภาพไม่ชัด, ปริมาณ alc. 200% มีอาการสับสน ง่วงซึม ง่วงนอนจะหลับ มึนงง สามารถปลุกให้ตื่นได้ แต่ให้ทำอะไรแล้วจะจำไม่ได้, ปริมาณ alc. 300% มีโอกาสน็อกเสียชีวิต โดยผลการตรวจเลือดในร่างกายกับในตามีความสอดคล้องกัน และได้ผลดีกว่าในร่างกาย เพราะไม่ถูกการรบกวน
Advertisement