สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ไขคำตอบทำไมเรามองเห็น "สีของดาวตก" แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ องค์ประกอบทางเคมีและโมเลกุลของอากาศโดยรอบ
จากที่เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลาประมาณสามทุ่มเศษ โซเชียลแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายของ "ลูกไฟสีเขียว" ที่พาดผ่านท้องฟ้า มีผู้พบเห็นในหลายจังหวัดแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย ซึ่งเบื้องต้นนี้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเป็นดาวตกชนิด #ลูกไฟ (Fireball)
ล่าสุด NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติให้อธิบายความรู้ เรื่องสีของดาวตก ระบุว่า #ดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง
สำหรับสีของดาวตกนั้น มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) และนิกเกิล ( Ni ) ให้แสงสีฟ้าเขียว อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลก
Advertisement