อาหารเสริม อ้างชื่อดาราดัง อย. ตรวจพบสาร "ไซบูทรามีน" สารอันตรายต่อกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้ายแรงขั้นเสียชีวิต
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากเพจ “Ozy หนิงปณิตา เพจหลัก-ส่งฟรีปลายทาง” ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฉลากระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้
“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โอซี อย. 76-1-17557-5-0300 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย : บริษัท สาม เกลอ โปรดักส์ จำกัด 58/1 หมู่ที่ 8 ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 76130 วัน เดือน ปี ที่ผลิต MFD 05/03/24 EXP 05/03/26”
ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน
จึงขอประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด
หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line : @FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ไซบูทรามีน คืออะไร
ไซบูทรามีน (sibutramine) เป็นหนึ่งในสารปลอมปนที่พบมากที่สุดในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีข้อบ่งใช้เพื่อลดความอ้วน ยานี้ออกฤทธิ์ที่สมอง ทำให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวลดลง จึงมีการนำมาใช้เองในทางที่ผิดในผู้ที่อยากผอม
ผลข้างเคียงที่พบ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น การใช้ยานี้ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
กระทั่ง ในปี พ.ศ. 2553 ยานี้จึงถูกถอนออกจากตลาดเนื่องจากความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่าต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ หากพบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคชนิดใดที่มีไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ข้อมูล : หน่วยคลังข้อมูลยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักเขตประชาวสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่
Advertisement