วันที่ 17 ม.ค. 67 พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ผบช.สอท. เปิดเผยถึงกรณีการจับกุมแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพตัดต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคน ว่าการจับกุม แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ที่มีการตัดต่อภาพแปะข้อความลักษณะดูหมิ่นนายทักษิณ สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ทนายความของนายทักษิณ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจไซเบอร์ เพื่อให้ติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุคนนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากสร้างความเสียหายทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ยืนยันไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ จับกุมแต่ผู้ที่หลอกลวงหรือมีพฤติกรรมดูหมิ่นบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ตำรวจไซเบอร์ ดำเนินการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ส่วนจะมีการขยายผลไปถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่มีการกระทำลักษณะนี้หรือไม่ ประเด็นนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสียหาย ว่าประสงค์จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มหรือไม่
สำหรับกรณีที่นางสาวแพทองธาร ถูกขบวนการคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ใช้เสียงเลียนแบบผู้นำประเทศอื่นหลอกให้โอนเงินช่วยเหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ากลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรศัพท์มาหลอกนั้นเป็นบุคคลกลุ่มใด แต่เชื่อว่าเป็นกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้เสียหายถูกหลอกในลักษณะนี้ ถึงกว่า 16,000 คดี
ส่วนประเด็นค่ายโทรศัพท์มือถือ ออปโป้และเรียลมี ที่ประสานส่งข้อมูลส่วนบุคคล ให้ตำรวจไซเบอร์ ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าค่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 ค่ายจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับตำรวจไซเบอร์หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ. สำหรับผู้เสียหายที่มีความประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีมี สคบ. และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ดูแลรับผิดชอบอยู่ โดยหากตรวจสอบแล้วพบ ว่าเข้าข่ายความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจไซเบอร์ก็จะเข้าไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวถึงกรณีที่บริษัทมือถือค่ายดังใส่แอพเงินกู้และไม่สามารถลบได้โดยกล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าค่ายโทรศัพท์มือถือดังกล่าวนั้น อยู่ระหว่างการประสานว่าจะส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้ตำรวจไซเบอร์หรือสคบ.เป็นผู้ตรวจสอบ
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบจากข้อมูลที่ได้รับ และในระบบของตำรวจไซเบอร์เอง ทำให้ทราบว่าค่ายมือถือดังกล่าวใช้ระบบปฏิบัติการคัลเลอร์ OS เป็นระบบที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์รายนี้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของระบบ Android และผู้ที่จะดาวน์โหลดคือผู้ที่ใช้โทรศัพท์ของตนดาวน์โหลดระบบปฏิบัติการ เพราะเมื่อดาวน์โหลดแล้วจะมีแอปพลิเคชั่น ดังกล่าวที่มีปัญหา ติดเข้ามาด้วย โดยไม่สามารถลบออกได้ด้วยตัวผู้ใช้บริการเอง และหากผู้ใช้บริการเดือดร้อนรำคาญตามที่ตกเป็นข่าว ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้
ส่วนกรณีที่พ้นเดดไลน์ส่งข้อมูลส่วนบุคลคลของผู้ใช้บริการนั้น พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการประสานว่าจะให้ 2 ค่ายมือถือดังกล่าวส่งข้อมูล ให้กับหน่วยงานไหนระหว่าง สคบ.หรือตำรวจไซเบอร์ ในส่วนของผู้เสียหายนั้น ขณะนี้สคบ.เป็นหน่วยงานเบื้องต้นรับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษร่วมกับ ปคบ. และหากตำรวจไซเบอร์จะเข้าไปดำเนินการ ก็ต้องดูที่พฤติการณ์ว่าเข้าข่ายอำนาจการสอบสวนของตำรวจไซเบอร์หรือไม่
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากใครได้รับความเสียหายและเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษก็พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายโดยมันที
Advertisement