วันที่ 23 มกราคม 68 ที่บ้านพระอาทิตย์ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงชี้แจงกรณีที่ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งในการตั้งคณะทำงานเพื่อมาดำเนินการในการสืบสวนเพิ่มเติม ในคดีเรื่องที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นคำร้องเอาไว้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ หรือการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อช่วยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ โดยเหตุผลนี้ก็ทำให้ได้มีการออกคำสั่งในการตั้งคณะทำงาน เพื่อมาทำหน้าที่ในการสืบสวนในครั้งนี้ แน่นอนว่าพนักงานสอบสวนสืบสวนในคดีนี้จะมีอำนาจสืบสวนตามที่มีการกำหนดตามกฏหมาย นั่นหมายความว่าสิ่งที่ภาคประชาชนทำไม่ได้ เช่น การเรียกพยาน หลักฐาน ก็จะทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถใช้อำนาจตรงนี้ในการเรียกพยานหลักฐานได้ทุกชนิดและทุกประเภท ในนามของภาคประชาชนบ้านพระอาทิตย์ มิสแกรนด์ รวมถึงคุณ อัจฉริยะ รวมถึงทุกๆคนและพี่น้องสื่อมวลชนที่มาร่วมผลักดันในเรื่องนี้ พวกเรากราบขอบพระคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มา ณ โอกาสนี้
อาจารย์ ปานเทพ อธิบายเหตุผลต่อไปว่าเมื่อตั้งชั้นที่หนึ่งในชั้นการสืบสวนแล้วผลจะเป็นอย่างไรนั้น
เส้นทางที่หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงข้อหา ไม่ใช่การ รื้อฟื้นคดี เรายังไม่พูดถึงการรื้อฟื้นคดี เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงข้อหา ในชั้นนี้ต้องอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 163 และ 164 โดยเนื้อความระบุว่า
เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ อัยการ และ คุณแม่แตงโม มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควร จะอนุญาตหรือสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำนวนแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณามาฟ้องเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อมีเหตุอันควรจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ส่งสำเนาแก่โจทก์
มาตรา 164 ก็พูดถึงกรณีเดียวกันว่า ถ้าแก้แล้วทำให้จำเลยเสียเปรียบทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการแก้เปลี่ยนฐานความผิดทำได้ การกระทำก็ต้องก่อนที่จะมีคำสั่งศาลพิพากษาชั้นต้น ซึ่งปัจจุบันคดีแบ่งเป็น 2 งส่วน คดีที่สิ้นสุดไปแล้วก็คือของคุณปอและคุณโรเบิร์ต ในขณะอีกคดีหนึ่งยังถึงขั้นศาลชั้นต้นพิพากษา
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็แปลว่า มีช่องทางตามกมลกฏหมาย แต่ทีนี้คุณอัจฉริยะ ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้ว เพื่อขอให้อัยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อหาต่อจำเลยที่เหลือ ถามว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ กระบวนการพิจารณาในคดีหลักที่มีจำเลยเป็นคุณ แซน วิศาพัช ในขณะนี้ฝ่ายโจทก์และพยานโจทก์สืบเสร็จหมดแล้ว ฝ่ายจำเลยก็สืบไปบางส่วนแล้วเหลือแค่อีก 2 ปากในวันที่ 29 มกราคม ในขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพิ่งจะรับในชั้นสืบสวนเท่านั้น นั่นก็หมายความว่ายังใช้เวลาอีกมากแล้วก็ไม่แน่ชัดและไม่แน่ใจว่าจะทันต่อการเปลี่ยนแปลงข้อหาหรือไม่ในชั้นอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมีอำนาจ ถ้าเขาเห็นว่ามีพฤติการณ์หรือมีข้อสงสัย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่เกี่ยวข้องกับอัยการสูงสุดและศาล ต้องเห็นชอบด้วย
ก็มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง ก็คืออัยการท่านเห็นสมควร ท่านก็พิจารณาในการขอแก้ไขหรือเปลี่ยนข้อหาได้ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษทำหนังสือไป เพื่อให้อัยการจำหน่ายคดีออกชั่วคราว เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนในประเด็นอื่นนั้นเป็นข้อยุติเสียก่อนก็ได้ แต่ศาลท่านต้องเห็นด้วย เป็นองค์ประกอบพร้อมกัน
ส่วนคดีที่ตำรวจ 21 คนฟ้องคุณอัจฉริยะ ศาลยกฟ้อง แม้จะเป็นคดีหมิ่นประมาท แต่ฐานข้อมูลเป็นฐานเดียวกันกับคดีหลัก ดังนั้นถ้ามันมีความขัดแย้งกัน อาจจะทำให้เกิดการตีความหรือการพิจารณาที่อาจจะเกิดความไม่เหมือนกันได้ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ทางคุณอัจฉริยะ กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ ร่วมกับศาลจะต้องไปพิจารณาในเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วัน ซึ่งเพียง 5 วันเท่านั้น
อีกด้านหนึ่งก็คือทางคุณแม่ของแตงโม เพราะเป็นโจทก์เช่นเดียวกัน สมมติว่าทางอัยการเห็นชอบ หรือมีกระบวนการพิจารณาล่าช้า คุณแม่แตงโม มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลได้เช่นเดียวกัน เพราะมีสถานภาพเป็นโจทก์ร่วมในกรณีที่จะแก้ไขข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิ์ของคุณแม่คุณแตงโม
เส้นทางที่สอง คืออำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในรอบนี้ ท่านได้ใช้อำนาจตามมาตรา 23 / 1 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษปี 2547 ระบุว่าในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควร ให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) อธิบดีจะสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้นเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ กคพ. ก็ได้ ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนนั้นตามระเบียบที่ กคพ. กำหนด
แปลว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งการสืบสวนขึ้นแล้ว มีอำนาจในการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง คดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ได้แก่ความผิดทางอาญา 2 ประเภท คือระบุความผิดชัดเจน และระบุความผิดแนบท้าย เมื่อตรวจสอบพบว่าคดีของคุณแตงโมไม่เข้าเกณฑ์นี้ ก็เลยไปเข้าวงเล็บสอง ที่ว่าคดีความผิดทางอาญาอื่นนอกจากวงเล็บหนึ่งตามที่ กคพ. กำหนด แต่ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมด แปลว่าอธิบดีตั้งชุดนี้แล้วสืบสวนแล้ว หากเห็นว่ามีมูลและมีความผิด ต้องผ่านอีกหนึ่งชั้น คือคณะกรรมการ กคพ. คณะกรรมการชุดนี้คือคณะกรรมการคดีพิเศษ ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกจำนวน 9 คน รวมทั้งหมด 21 คน ต้องมีคนลงมติ 14 คน ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะมีผลทันทีหลังจากการสืบสวนว่ามีมูล ถ้าเป็นการกระทำความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออัยการที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆเป็นคนบนเรือหรือคนที่อยู่นอกเรือ เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ในกรณีแบบนี้เขาจะส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. คดีถ้ามีมูลก็แปลว่ามีการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่เป็นประเด็นใหม่ ก็จะนำไปสู่การรื้อคดี
ดังนั้นสิ่งที่เราจำลองสถานการณ์ เพื่อพิสูจน์ว่ามีคำให้การเท็จหรือไม่ รูปประกอบทั้งหลายในโทรศัพท์ GPS รวมถึงลักษณะบาดแผล และคำสรุป ถ้ามีเท็จก็จะไปสู่การรื้อคดีได้ ดังนั้นใครบอกว่าเอาพยานหลักฐานมาสิ ว่าต้องเห็นรูปวิดีโอการแทงมีด ใครเป็นคนแทง นั้นไม่ใช่ประเด็น การรื้อคดีใหม่สามารถทำได้ แค่พิสูจน์ได้ว่ามีสิ่งที่เป็นเท็จอยู่ ก็จะสามารถทำได้
"เพราะฉะนั้นแล้ว ใครที่เคยปรามาส ว่าการที่เราทดลอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เส้นผม เรื่องที่เราตกน้ำ ว่าเป็นละครตลก ละครเกรดบี ละครเกรดซี เป็นเรื่องไร้สาระ พิธีกรบางคนบอกว่าทำไปเพื่ออะไร หรือคิดดูถูก ดูแคลนด้อยค่า แล้วก็หัวเราะเยาะ
อยากจะบอกว่านี่คือผลลัพธ์ที่เราทำ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราทำไม่มีทางที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเริ่มพิจารณาการสืบสวน ก็แปลว่า ขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากคำร้องนั้นมันมีน้ำหนักพอ ที่จะนำไปสู่กระบวนการพิจารณาในฐานะเป็นคดีพิเศษ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่าการนับหนึ่งของการสืบสวน โดยอำนาจรัฐนั้นเริ่มต้นขึ้นแล้ว"
อาจารย์ปานเทพ ระบุอีกว่า สิ่งที่เราได้มีการเบิกความไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ทาง GPS โทรศัพท์ แชตLINE ที่เรารวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงหลักฐานของพี่น้องสื่อมวลชนที่ทำงานตลอดมา 3 ปี หลายชิ้นเป็นองค์ประกอบที่เรานำไปสู่การพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนกระทั่งมีวันนี้ที่มีการเริ่มนับหนึ่งในการได้อำนาจในการสืบสวน ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ต้องกังวล เพราะคดีนี้มีสองด้าน คดีหนึ่งสิ้นสุดไปแล้วรื้อฟื้นได้ คดีที่เหลือกระบวนการเดินไป หากมีข้อขัดแย้งในภายหลังก็ต้องมีเส้นทางในการพิจารณา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ในที่สุดจะต้องอยู่ขั้นคณะกรรมการ กคพ. ที่ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน ถ้ารัฐบาลอยากจะกอบกู้ความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องดำเนินเรื่องให้เป็นที่ประจักษ์ให้เป็นความหวังของประชาชน และวันนี้ก็ชัดเจนได้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอที่รัก ดีเอสไอที่รักความยุติธรรม สิ่งที่เราทำไปไม่ใช่การเพ้อเจ้อ เล่นสนุกสนาน เรามีกลไกและวิธีการที่เราไตร่ตรองและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงมั่นใจว่ามีช่องทางที่จะทำได้ ผลลัพธ์จะเป็นยังไงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอให้เราได้ทำให้ถึงที่สุด
Advertisement