กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย กก.6 บก.ป., กก.6 บก.ปทส., ส.รน.2 กก.9 บก.รน. และกก.สส.ภ.จว.ตรัง นำกำลังลงพื้นที่จับกุมเครือข่าย "บอล เขาวิเศษ" แก๊งค้ายาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่
สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายให้ดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมเครือข่ายยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงกลุ่มนายทุนสีเทาต่างๆ ที่แฝงตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีอิทธิพลแผ่ขยายมายังประเทศไทย เกิดการกระทำความผิดต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาค้ามนุษย์ และปัญหายาเสพติด
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม ได้ตรวจสอบปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดข้างเคียง ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายยาเสพติดที่มีหัวหน้าขบวนการคือ "นายปราโมทย์ หรือ บอล เขาวิเศษ" ซึ่งได้หลบหนีคดีจ้างวานฆ่า ไปซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แต่ก็ยังคงควบคุมสั่งการให้ลูกน้องในพื้นที่ทำการแพร่กระจายยาเสพติดอยู่อย่างต่อเนื่อง มีพฤติการณ์ในการใช้ จ้างวาน ให้กลุ่มเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดตรัง ไปติดตามทวงหนี้ค่ายาเสพติด ด้วยวิธีการที่รุนแรง เช่น การยิงบ้าน ยิงรถ หรือยิงตัวลูกหนี้ที่ติดค้างเงินค่ายาเสพติด เป็นต้น
ซึ่งจาการตรวจสอบ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุยิงบ้าน ยิงรถ และยิงคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดค้างเงินค่ายาเสพติดมากถึง 61 คดี บางคดีก็รู้ตัวผู้กระทำความผิด บางคดีก็ไม่ทราบ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต่างหวาดกลัวอิทธิพลของกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดนี้
เจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม จึงได้สืบสวนติดตามเครือข่ายยาเสพติดนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสาวให้ถึงตัวคนบงการอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าทำการจับกุมตัว นายอนุกูล หรือหมู หนึ่งในเครือข่ายยาเสพติดของนายปราโมทย์ พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 20,152 เม็ด โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหา "ร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอม-เฟตามีน) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน" โดยสามารถจับกุมได้ที่บ้านพัก หมู่ที่ 5 ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง จากการซักถาม นายอนุกูล ให้การว่า ยาบ้าของกลางที่ถูกตรวจยึด มีแหล่งที่มาจากผู้ค้ายาเสพติด 2 เครือข่ายหลัก ได้แก่
1. ยาบ้าของกลาง จำนวน 152 เม็ด ซื้อมาจากเครือข่ายยาเสพติด นายปราโมทย์ เดิมได้ซื้อมา จำนวน 14,000 เม็ด ในราคา 126,000 บาท ก่อนจะทยอยจำหน่ายให้ลูกค้า จนเหลือยาบ้า จำนวน 152 เม็ด
2. ยาบ้าของกลาง จำนวน 20,000 เม็ด ได้ซื้อมาจาก เครือข่ายยาเสพติด นายณัฐนนท์ (สงวนนามสกุล) ในราคา 170,000 บาท
กองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม ได้สืบสวนคดีนี้มาโดยตลอด และพบว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ ซึ่งมีการสมคบ วางแผน และแบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นระบบ ในลักษณะขององค์กรอาชญากรรม โดยมีหัวหน้าขบวนการคือนายปราโมทย์ฯ ซึ่งเป็นผู้ร้ายรายสำคัญ เคยก่อเหตุคดีอุกฉกรรจ์ในพื้นที่จังหวัดตรัง ก่อนจะหลบหนีออกนอกพื้นที่ไปยังบริเวณชายแดนประเทศไทยกับประเทศเมียนมาทางรอยต่อของ จ.เชียงราย หลังจากนั้นได้ร่วมมือกับเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน ลำเลียงยาเสพติดมาจำหน่ายในจังหวัดตรัง โดยใช้เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่เป็นตัวแทนจำหน่าย หากผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยไม่สามารถชำระเงินค่ายาเสพติดตามกำหนด กลุ่มผู้กระทำผิดจะใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม หรือถึงขั้นใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มบ้าน เพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันให้ชำระหนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
สำหรับยาบ้าของกลาง จำนวน 152 เม็ด จากการสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอเชื่อได้ว่า นายอนุกูล ได้สั่งซื้อยาบ้า จำนวน 14,000 เม็ด ในราคา 126,000 บาท มาจาก นายปราโมทย์ ก่อนที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าจนเหลือ 152 เม็ด โดย นายปราโมทย์ฯ เป็นผู้สั่งการให้ นายชัยชนะฯ นำยาเสพติดมามอบให้ นายอนุกูล
จากนั้น นายอนุกูล จึงได้โอนเงินชำระค่ายาเสพติดไปให้บัญชีธนาคารที่ นายปราโมทย์ เป็นผู้ครอบครอง โดยใช้บัญชีธนาคารที่เปิดในชื่อ นายเจษฎา หลังจากนั้นปรากฏว่าเส้นเงินค่ายาเสพติดดังกล่าวถูกโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารที่เปิดในชื่อ น.ส.เกศกานต์ และมีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีที่เปิดในชื่อ นายกิติศักดิ์ ก่อนจะโอนไปยังบัญชีที่เปิดในชื่อนายจายฯ ซึ่งเป็นลักษณะของการยักย้าย ถ่ายโอน ซ่อนเร้น และปิดบังแหล่งที่มาของเงินค่ายาเสพติด
นอกจากนี้ ยังพบบัญชีธนาคารอื่นที่ถูกใช้ในการรับเงินค่ายาเสพติดของนายปราโมทย์หรือบอล ได้แก่บัญชีที่เปิดในชื่อ น.ส.กรินทร์รัตน์ และบัญชีที่เปิดในชื่อ นายณัฐพร โดยบัญชีเหล่านี้มีผู้ครอบครองบัตรเอทีเอ็ม ได้แก่ นายชาญวิช และนายสุทธินันท์ ซึ่งมีหน้าที่ถอนเงินสดออกจากบัญชีดังกล่าว รวมถึงทำหน้าที่ติดตามทวงหนี้ค่ายาเสพติดให้ นายปราโมทย์
ภายหลังที่ นายชาญวิช และ นายสุทธินันท์ ได้ถอนเงินสดจากบัญชียาเสพติดเหล่านี้แล้ว ได้มีการฝากเงินดังกล่าวไปยังบัญชีของบุคคลใกล้ชิด ตามสั่งการของ นายปราโมทย์ ประกอบด้วย น.ส.มุขดารินทร์ เกี่ยวข้องเป็นภรรยาของ นายสุทธินันท์, น.ส.ธัญชนก และ น.ส.ธิยานันท์ เกี่ยวข้องเป็นภรรยาของ นายปราโมทย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น.ส.ธัญชนก ภายหลังได้รับเงินมาแล้ว ได้มีการถอนเงินสดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แล้วมีการเดินทางข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นการถอนเงินสด เพื่อนำไปมอบให้ นายปราโมทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีอุกฉกรรจ์และคดียาเสพติดไปอยู่บริเวณพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ นายปราโมทย์หรือบอล กับพวกรวม 16 คน ในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด, สมคบฯ และฟอกเงิน
จึงนำมาสู่ปฏิบัติการในวันนี้ (18 ก.พ.2568) ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.6 บก.ป. ได้สนธิกำลังร่วมกับ กก.6 บก.ปทส., ส.รน.2 กก.9 บก.รน. และ กก.สส.ภ.จว.ตรัง เปิดปฏิบัติการ "TAKEDOWN MAFIA ยานรก ตรัง-ท่าขี้เหล็ก" ปิดล้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัย ในพื้นที่ จ.ตรัง, จ.นครศรีธรรมราช, จ.กระบี่ และ จ.นครปฐม รวมทั้งสิ้นจำนวน 21 จุด และสามารถจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้ง 11 ราย ดังนี้
1. นายสุทธินันท์ อายุ 37 ปี
2. นายสุรศักดิ์ อายุ 23 ปี
3. นายเจษฎา อายุ 36 ปี
4. นายจาย อายุ 47 ปี
5. น.ส.กรินทร์รัตน์ อายุ 19 ปี
6. นายณัฐพร อายุ 23 ปี
7. น.ส.มุขดารินทร์ อายุ 29 ปี
8. น.ส.ธัญชนก อายุ 31 ปี
9. น.ส.ธิยานันท์ อายุ 37 ปี
10.นายณัฐนนท์ อายุ 30 ปี (เรือนจำ)
11.นายชาญชัย อายุ 25 ปี (เรือนจำ)
ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
สมคบฯ : ร่วมกันมีไว้ในครองครองและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) เพื่อการค้าและก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนโดยเป็นหัวหน้าผู้มีหน้าที่สั่งการโดยไม่ได้รับอนุญาต, สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยมีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรมเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน,ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน
ฟอกเงิน : ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน
บัญชีม้า : ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์ซึ่งตนได้เปิด จด หรือลงทะเบียนไว้แล้ว โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่า จะนำไปใช้ในการกระทำความผิดทางอาญาอื่นใด
พร้อมตรวจยึดของกลาง ดังนี้
1.เงินสด จำนวน 700,000 บาท
2.ลานเทปาล์ม มูลค่า 10,000,000 บาท
3.ทองคำ น้ำหนัก 5 บาท มูลค่า 200,000 บาท
4.โทรศัพท์ จำนวน 6 เครื่อง
5.รถยนต์ 4 คัน
6.รถจักรยานยนต์ จำนวน 3 คัน
7.สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 9 เล่ม
8.บัตรกดเงินสด (ATM) จำนวน 2 ใบ
9.ตู้เซฟนิรภัย 1 ตู้
มูลค่าทรัพย์สินที่ตรวจยึดและเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคาร รวมประมาณ 20 ล้านบาท สามารถจับกุมได้ในพื้นที่ จ.ตรัง 18 จุด , จ.นครศรีธรรมราช 1 จุด , จ.กระบี่ 1 จุด และ จ.นครปฐม 1 จุด
จากการสอบถามปากคำกลุ่มผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การรับสารภาพ 1 ราย คือ น.ส.ธัญชนก ปฏิเสธ 10 ราย คือ นายสุทธินันท์, นายณัฐนน, นายสุรศักดิ์, นายเจษฎา, น.ส.มุกดารินทร์, นายจาย, น.ส.กรินทร์รัตน์, น.ส.ธิยานันท์, นายชาญชัย และ นายณัฐพร
Advertisement