วันที่ 25 ก.พ. 68 ศาลอาญา นัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขดำ อลศ.2/2567 ระหว่างผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา และนาย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหา สืบเนื่องจากมีประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล กรณีเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2567 ผู้ถูกกล่าวหาได้เผยแพร่สรุปย่อคำพิพากษาต่อสื่อมวลชนในคดีที่ตนเองเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาท
ศาลไต่สวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 ผู้ถูกกล่าวหาเผยแพร่เอกสารสรุปย่อคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.951/2566 ระหว่าง พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ โจทก์ กับนาย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ จำเลย ต่อสื่อมวลชน ทั้งที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่คำพิพากษา เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดพิมพ์ตามระเบียบราชการ โดยสรุปย่อคำพิพากษาที่ผู้ถูกกล่าวหาเผยแพร่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านในห้องพิจารณา เชื่อว่าสรุปย่อคำพิพากษาที่ผู้ถูกกล่าวหาเผยแพร่เป็นเอกสารที่เกิดขึ้นจากวิธีการลักลอบบันทึกเสียงหรือวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมิชอบ บันทึกเสียงผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในขณะอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณา และจัดพิมพ์เป็นเอกสารสรุปย่อคำพิพากษาออกเผยแพร่ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึง ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) , 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 , 180 แม้ผู้ถูกกล่าวหามิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยตรง แต่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อสังคมมาเป็นเวลานาน ที่สำคัญผู้ถูกกล่าวหามีประสบการณ์ในการดำเนินคดีในศาลมาแล้วหลายคดีย่อมรู้ถึงวิธีการดำเนินคดีในศาลและการประพฤติตนในศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและความชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อคำพิพากษาของศาลอาญาและส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม จึงเห็นสมควรลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 2 เดือน
ทั้งนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทนายความของนายอัจฉริยะ ได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ล่าสุดศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยตีราคาประกัน 50,000 บาท
Advertisement