จากกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ อายุ 43 ปี อดีตผู้กำกับ สภ.นครสวรรค์ ฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ ภายในห้องขังหมายเลข 50 ตึกนอนแดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม ช่วงค่ำวันที่ 7 มี.ค. 68 ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารหนังสือร้องเรียน ที่เขียนโดยแม่ของ ผู้กำกับโจ้ส่งถึง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68
มีใจความระบุว่า เป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง และการใช้ความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ควบคุม ขอร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ควบคุมคนหนึ่ง ซึ่งมีการกระทำส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษอย่างร้ายแรง
แม่ของอดีตผู้กำกับโจ้ ได้เขียนบรรยายรายละเอียดถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา
ช่วงแรกคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปลายปี 2567 ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เหตุการณ์เริ่มต้นจากมีนักโทษรายหนึ่งพูดใส่ร้าย ผู้กำกับโจ้ ทำให้ผู้คุมหลายคนมีทัศนคติที่ไม่ดี และต่อว่า ผู้กำกับโจ้ และผู้ต้องขังคนดังกล่าวยังขู่จะทำร้ายร่างกายผู้กำกับโจ้หลายครั้ง ซึ่งผู้กำกับโจ้คาดว่าสาเหตุที่ผู้ต้องขังคนนั้น ไม่พอใจตนเอง เป็นเพราะเคยขอร้องให้ไปสูบบุหรี่ไกลจากพื้นที่ห้องนอนของตัวเอง
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมคนดังกล่าว เริ่มมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้กำกับโจ้ โดยเรียกเข้าไปด่าว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงภายในห้องส่วนตัว รื้อค้นสิ่งของส่วนตัว เช่น เอกสารสำคัญทางคดี จนทำให้เอกสารเสียหาย และพยายามที่จะตั้งเรื่องเอาผิดผู้กำกับโจ้
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง เช่น ยึดเอกสารสำคัญทางคดี ซึ่งผู้กำกับโจ้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการขึ้นศาล โดยอ้างว่านักโทษไม่สามารถเก็บไว้ได้ ต้องนำออกไปจากเรือนจำ แต่ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ระบุว่า นักโทษสามารถเก็บรักษาเอกสารทางคดีไว้กับตนเองได้ เข้ายึดพัดลมที่ผู้กำกับโจ้ขออนุญาตนำเข้ามาอย่างถูกต้อง เพราะมีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งแพทย์ระบุให้หลีกเลี่ยงอากาศร้อน และให้ใช้พัดลมป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ พยายามจะยึดแว่นตาดำของผู้กำกับโจ้ทั้งที่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้งาน เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาขณะรับโทษในเรือนจำ ทำให้ดวงตาไม่สามารถรับแสงได้
เหตุการณ์ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้กำกับโจ้ จนทำให้สุขภาพทรุดหนัก มีอาการตัวสั่น โรคหัวใจกำเริบ ต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล จนแพทย์ต้องปรับยารักษาให้แรงมากขึ้น
ส่วนเหตุการณ์ช่วงที่สองเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2568 โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ผู้กำกับโจ้พบว่าผู้ต้องขังคนเดิม เล่นเกมและดูสื่ออนาจาร ซึ่งผิดระเบียบของเรือนจำ จึงพูดกับผู้ต้องขังคนดังกล่าวว่า การกระทำนี้มีความผิด แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมคนดังกล่าว ด่าทอ และต่อย-ผลัก จนเกิดรอยช้ำขนาดใหญ่บนร่างกาย
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2568 ผู้ควบคุม ก็ตั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้กำกับโจ้มีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง และให้นักโทษในความดูแลของตัวเองเป็นพยานยืนยัน ผู้กำกับโจ้จึงถูกย้ายไปยังแดน 5 และถูกขังในซอย
แม่ของผู้กำกับโจ้ ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่กล่าวมาในจดหมาย เป็นเพียงบางส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยังทราบว่า ผู้คุมคนดังกล่าว ยังมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งและกดดันนักโทษคนอื่นด้วย จึงขอร้องเรียนให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้คุมคนนี้อย่างละเอียด และดำเนินการทางวินัยหากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ขอให้มีการนำตัวผู้กำกับโจ้ออกจากการคุมขังพิเศษที่แดน 5 โดยเร็ว ขอให้แยกผู้คุมคู่กรณีออกจากพื้นที่ใกล้ชิดกับผู้กำกับโจ้เ พราะกังวลว่าจะส่งผลต่อความปลอดภัย และขอให้ผู้กำกับโจ้ได้รับการคุมขังในพื้นที่ปลอดภัย โดยต้องเป็นแดนที่ไม่เสี่ยงอันตรายจากการถูกกลั่นแกล้ง
ครอบครัวรู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมากจากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ควบคุมดังกล่าว ที่ส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจของผู้กำกับโจ้ และเกรงว่าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ท้ายเอกสาร ยังได้มีการแนบใบรับรองแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งแพทย์ได้ระบุผลการตรวจร่างกายของอดีตผู้กำกับโจ้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ได้รับบาดเจ็บบริเวณชายโครงซ้าย จากการกระแทกของแข็งไม่มีคม และพบแผลฟกช้ำเป็นวงเรียงต่อกันเป็นแนว ใต้ราวนมซ้าย
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่ทนายความของผู้กำกับโจ้ ได้ไปแจ้งความเรื่องถูกทำร้ายร่างกายไว้ที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ด้วย
Advertisement