ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม พล.ต.วีระยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 (รองมทภ.2) และ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (รองผบ.นบ.ยส.24) เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติงานนบ.ยส.24 ที่ตั้งกองบัญชาการอยู่ในค่ายพระยอดเมืองขวางแห่งนี้โดยมี พ.อ.ศิวดล ยาคล้าย ผอ.ส่วนอำนวยการฯ พ.อ.ศรณณัฐ นวลมณี และ พ.อ.อิทธิพล นนลือชา รองผอ.ฯ ร่วมรายงานสถิติและการปฏิบัติงานในแต่ละมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 จนถึง เดือน มี.ค. 2568
โดยมีผลจากการดำเนินงานด้านยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ นบ.ยส.24 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 666 ครั้ง ผู้ต้องหา 920 ราย ยึดของกลางยาบ้า 95,918,351 เม็ดไอซ์ 3,786 กิโลกรัม เฮโรอีน 124 กิโลกรัม เคตามีน 777 กิโลกรัม และอื่นๆ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นมากถึง 6,584,787,950 บาท (หกพันห้าร้อยแปดสิบสี่ล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยห้าสิบบาท)
จากนั้น รองมทภ.2 และรองผบ.นบ.ยส.24 ได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กับกำลังพลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจถือเป็นการขอบคุณในความทุ่มเทเสียสละในการปฏิบัติงาน โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับตลอดมา
ในส่วนบทบาทของกองทัพบกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย นอกจากการสกัดกั้นยาเสพติดของกองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบกแล้ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า นบ.ยส. หรือ หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของ นบ.ยส. ถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2566 ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสกัดกั้นยาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง และปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์เร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นบ.ยส.35 และ นบ.ยส.24 ซึ่งต่อมาในปี 2567 ก็ได้มีการจัดตั้ง นบ.ยส.17 เพื่อรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกเพิ่มเติม
บทบาทและหน้าที่ของ นบ.ยส. ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั้งการสกัดกั้นปราบปรามและเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ชายแดน คือ
1.สกัดกั้นยาเสพติดยับยั้งและจับกุมไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้ามาในประเทศ
2.ปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติดและวงจรทางการเงินของกลุ่มขบวนการยาเสพติดตามแนวชายแดน
3.เฝ้าระวังการขนส่งยาเสพติดปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่แนวชายแดน
4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนชายแดนส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทในการต่อต้านยาเสพติดแจ้งข่าวสารและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่
5.ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำงานร่วมกับหน่วยงานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและผู้ที่หลบหนีหมายจับ
6.ดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็นใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในประเทศ
ส่วนที่มาของตัวเลข นบ.ยส. ในแต่ละพื้นที่โดยได้แบ่งความรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนที่มีความสำคัญเร่งด่วนซึ่งเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทหารตำรวจฝ่ายปกครองและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมีการกำหนดตัวเลขของ นบ.ยส. ตามโครงสร้างการจัดของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ และจะรับผิดชอบอำเภอชายแดนจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในแต่ละปี ซึ่งในปัจจุบันจนถึง 30 ก.ย. 2568 นี้มีการแบ่งความรับผิดชอบของ นบ.ยส. เป็น 3 หน่วยงาน ได้แก่
นบ.ยส.35 มีแม่ทัพภาคที่ 3 หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการและมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 และ 6 (ป.ป.ส.5-6) เป็นฝ่ายเลขานุการร่วมโดยรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และตาก
นบ.ยส.24 มีแม่ทัพภาคที่ 2 หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการและมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 3 และ 4 (ป.ป.ส.3-4) เป็นฝ่ายเลขานุการร่วมรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
นบ.ยส.17 มีแม่ทัพภาคที่ 1 หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการและมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 7 (ป.ป.ส.7) เป็นฝ่ายเลขานุการรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ กองทัพบก มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเครื่องมือและกำลังพลเพื่อปกป้องชายแดน รวมถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นและยับยั้งไม่ให้มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศ ซึ่งนับเป็นความมุ่งมั่นของกองทัพบกในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อความมั่นคงของชาติอย่างยั่งยืน
Advertisement