กรณีเรือลากจูงบรรทุกสินค้าอับปาง ทำให้จมลงระหว่างแม่น้ำป่าสักและเจ้าพระยา บริเวณหน้าท่าข้ามเรือวัดพนัญเชิง ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้มีผู้สูญหาย 2 ราย คือ นายสมชาย ธารกุล อายุ 65 ปี เป็นกัปตันเรือที่สูญหายไปพร้อมกับนางนฤมล จันทรโชติ อายุ 51 ปี ผู้เป็นภรรยา ตั้งแต่ช่วงสายวานนี้ (29 ก.ย.64)
ล่าสุดวันที่ 1 ต.ค.64 นับเป็นภารกิจค้นหาในวันที่ 3 เริ่มต้นขึ้นเวลา 11.00 น. โดยกู้ภัยจากสมาคมอยุธยารวมใจ 30 นาย ลงเรือวางแผนกับหน่วยซีลจากกองทัพเรืออีก 8 นาย
เวลา 12.25 น. หน่วยซีล 2 นาย ดำน้ำสำรวจตัวเรือตามแผน 1 ไดร์ (รอบ)
เวลา 13.00 น.ระดมทีมหน่วยซีล 10 นาย พร้อมด้วยนักประดาน้ำจากสมาคมอยุธยารวมใจ 10 นาย เริ่มจับบัดดี้ 2 นาย ลงดำน้ำผูกเชือก
เวลา 15.09 น.สามารถผูกเชือกเส้น 2 ได้
เวลา 15.30 น. เชือกเส้น 2 หลุด
เวลา 16.00 น. ผูกเชือกเส้น 2 ได้
เวลา 18.07 น. ผูกเชือกเส้นที่ 3 ได้
เวลา 18.11 น. กำลังผูกเชือกเส้นที่ 4
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิสุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นำเจ้าหน้าจากกรมเจ้าท่า 30 นาย พร้อมด้วยหน่วยซีลจากกองทัพเรือ 10 นาย และทีมกู้ภัย สมาคมอยุธยารวม นำโดยนายชัชชัย กิตติไชย ประธานคณะกรรมการสมาคมอยุธยารวมใจอีก 25 นาย และชุดประดาน้ำกู้ภัยรวมใจอีก 5 นาย ร่วมปฏิบัติการกู้ซากเรือและค้นหาผู้สูญหาย 2 ราย
นายภูริพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อวานี้ (30 ก.ย.64) สามารถผูกเชือกที่แม่ย่านางหรือหัวเรือที่จมน้ำได้แต่ 2 เส้น ติดกับเรือที่จะลากจูง 2 ลำ แต่ได้มีความพยายามจะจบภาระกิจ จึงนำเรือลากมาเพิ่มอีก 2 ลำ เป็น 4 ลำ แต่ก็สามารถดึงเรือขยับมาได้แค่ 10 เมตรเท่านั้น เพราะการลากเรือเป็นการลากทวนกระแสนน้ำ และน้ำแรงมาก เชือกจึงขาด 1 เส้น และยุติไปก่อนในเวลา 22.00 น.
ในวันนี้จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม และมีเวลาเริ่มกู้เรือได้เร็วขึ้น เพราะเสียเวลาไปกับการหาเรือ และวันนี้ได้นักประดาน้ำ ชุดประดาน้ำกู้ภัยอยุธยา มาช่วยผูกเชือก โดยวางแผนจะทำให้ได้ 4 เส้นเป็นอย่างน้อย โดยหลักการคือจะผูกเชือกกับตะขอท้ายเรือที่จะลากจูง ก่อนนำนักประดาน้ำไต่เชือกไปพร้อมทุ่นเหล็กที่มีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม เพื่อถ่วงน้ำหนักลงไปและนำเชือกไปผูกแม่ย่านางของเรือที่จมและใช้หัวล็อกเชือกกันหลุดอีกชั้น ให้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งจะใช้เรือลากจูงผูกเชือก 4 ลำ และใช้เรือรวมลากอีก 2 รวมเป็น 6 ลำ ซึ่งถ้าไม่ผิดแผนก็จะสามารถเริ่มลากเรือได้เวลา 18.00-19.00 น. ตนยืนยันว่าจำเป็นจะต้องลากเรือแบบทวนกระแสน้ำ เพราะลากตามกระแสน้ำ จะทำใหควบคุมเรือได้ยาก
ทั้งนี้ หากลากสำเร็จ จะทำการค้นหาผู้สูญหาย ก่อนกู้เรือขึ้นมา เพราะเบื้องต้นได้เตรียมอุปกรณ์ไว้ 2 ชนิด ได้แก่ บอลลูนน้ำหนัก 6 ตัน 10 ลูก ซึ่งมีกลไกในการกู้เรือด้วยการใช้นักประดาน้ำนำลงไปผูกยึดติดกับจุดแข็งแรงของเรือ - เติมออกซิเจนเข้าไปในบอลลูนก่อน บอลลูนจะทำการดึงเรือขึ้นมา และเตรียมเครนขนาด 100 ตัน มาช่วยกู้เรือด้วย
สำหรับอุปสรรควันนี้คือน้ำวน น้ำลึกและทัศนะวิสัยใต้น้ำเป็นศูนย์ ประกอบกับใต้น้ำมีเศษไม้ขนาดใหญ่ซึ่งเยอะมาก ทำให้นักประดาน้ำชุดเมื่อวานนี้ถูกเศษไม้กระแทก ดังนั้นวันนี้พยายามเซฟและทำงานให้รัดกุมที่สุด เพื่อเปิดทางน้ำให้ได้ เพราะทั้งขาขึ้นและขาร่องลงมา มีเรือสิ้นค้าจอดรอกว่า 100 ลำ ตนจึงพยายามเร่งแก้ปัญหาให้ได้ ยืนยันว่าผู้ประกอบการทุกรายเข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้เป็นอย่างดี
นางสมหมาย ธารกุล อายุ 52 ปี น้องสาวนายสมชาย เปิดเผยว่า ในวันนี้ตนปักหลักรอพี่ชายที่โป๊ะท่าน้ำวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ตนยืนยันว่าพี่ชายมีประสบการณ์เดินเรือ ทำอาชีพนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะอยู่กับเรือมาตั้งแต่เกิด จากเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุ ตนขอย้ำว่าบุคคลที่โจมตีพี่ชายตนต่าง ๆ นานาน ไม่ว่าจะกล่าวหาว่าเมายา เมาเหล้า หากจบภารกิจตนจะให้ลูกหลานรวบรวมหลักฐานดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมด เพราะคนพวกนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะคนเดินเรือทุกคนยังเข้าใจครอบครัวตน และมาช่วยค้นหา ส่วนภาคผู้ประกอบการตนก็หวังว่าจะเข้าใจเช่นกัน
กรณีที่พ่อปู่เข้าร่างญาติกล่าวหาว่าพี่สะใภ้ลบหลู่ ตนตอบไม่ได้ว่าจริงเท็จอย่างไร แต่นิสัยพี่สะใภ้เป็นคนใจดีมาก ๆ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอด ส่วนจะลบหลู่ตอนไหนตนพูดไม่ได้ แต่ก่อนเกิดเหตุก็มีสัญญาณไม่ดีจากพี่สะใภ้ เพราะวันก่อนทั้งคู่ลงเรือ ได้นั่งรถไปธุระด้วยกัน หลานสาวก็ทักพี่สะใภ้ว่าทำไมมีสีหน้าไม่ดี พี่สะใภก็ยังพูดว่าใจไม่ดี ก่อนหันไปพูดกับพี่ชายว่า “พ่อ ๆ เดือนตุลาทุกปีเราดวงไม่ค่อยดีนะ เดี๋ยวเดินเรือเสร็จไปถวายสังฆทานกันนะ” แต่ก็มาเกิดเหตุก่อน ซึ่งตนก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้กับพี่ชาย
สำหรับตนมีความหวังว่าภารกิจจะสำเร็จ แต่วันนี้เห็นความอันตรายของกระแสน้ำไหลแรงตลอด ตนมองว่าเจ้าหน้าคงต้องประชุมวางแผนให้ดี และพวกตนเข้าใจเพราะว่าเสี่ยงและไม่อยากให้มีใครสูญเสีย ดังนั้น ไม่กดดันเจ้าหน้าที่ ส่วนตนก็นั่งรอดูแบบนี้จนกว่าจะจบภารกิจ เพราะอยากเห็นพี่ชาย และได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ด้วย
นางเรไร ธารกุล อายุ 62 ปี พี่สะใภ้นายสมชาย ถึงขั้นทนไม่ไหวลุกขึ้นมาจุดธูป 16 ดอก บอกเจ้าที่เจ้าที่ให้เปิดทาง กล่าวว่า การจุดธูปนั้นเป็นการขมาเจ้าที่เจ้าทาง พร้อมขอพรหลวงพ่อโตให้ช่วยพาน้องทั้งคู่ขึ้นมา แม้ไม่มีสัญญาณอะไรก็ตาม แต่คนเรือมักทำกันแบบนี้ เพราะเป็นความหวังว่าต้องผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า อุปสรรคตอนนี้เป็นเรื่องของกระแสน้ำที่แรงมากและน้ำวนเป็นอุปสรรคต่อนักประดาน้ำ แม้จะเป็นมืออาชีพก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าเปลี่ยนทีมขึ้นมาพักอยู่ตลอด ตนจึงได้กำชับขอให้ระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตอนนี้ยังไม่มีแผนสำรอง จะใช้แผนนี้ให้สำเร็จ
ทีมข่าวได้สำรวจเรือยนต์ เรือชนิดเดียวกับเรือที่อับปาง พบเจ้าของเรือยนต์บอกว่าในตัวเรือเรือมีน้ำหนัก 60 ตันกรอส ความกว้าง 5.50 เมตร ยาว 18 เมตร ราคา 7 ล้านพร้อมตกแต่ง จากการสำรวจพบภายในท้องเรือเป็นห้องเครื่อง ถัดขึ้นมาเป็นห้องโถง ประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัว ส่วนด้านบนสุด เป็นห้องควบคุมเรือ ท้องเรือเหล็กแผ่นต่อ เดินตะเข็บนอกใน สามารถรองรับแรงกระแทกได้หลายตัน และเปลือกเรือที่ทำห้องต่าง ๆ นั้นไม่มีผลต่อการทำให้เรือล่มเลย
นายอนันต์ พุ่มชะเอม เจ้าของเรือยนต์ หรือนายท้ายเรือเหมือนนางนฤมล เปิดเผยว่า โดยปกติการเดินเรือตามน่านน้ำเป็นอาชีพหลักของพวกตนที่ผ่านเดินเรือทุกฤดู ดังนั้นช่วงน้ำลากเสี่ยงที่สุด ต้องประเมินสถานการณ์ต่อวินาที ดังนั้นในกรณีของนายสมชาย เป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่อาถรรพ์ เนื่องจากวันนั้นน้ำหลากไหลเชี่ยว และนายสมชาย เป็นกัปตันเรือที่เก่งที่สุด จึงอยู่ฝั่งซ้ายสุดเพื่อสู่กับกระแสน้ำวน ขณะนั้นมีการวิทยุเตือนแล้วว่า น้ำจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเชี่ยวและวน แต่เรือนายสมชาย ไม่สามารถควบคุมสู้น้ำได้ หากเดินหน้าก็เจอน้ำวน จึงต้องปล่อยไปตามกระแส สุดท้ายทนแรงน้ำไม่ไหวก็ควบคุมไม่ทันแล้ว
ส่วนเรือลากทั้ง 4 จำ ต้องลากเรือใหญ่ไปตามเป้าหมาย ไม่สามารถผ่อนเรือได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียหายทั้งหมด ขณะที่เรื่องความเชื่อในท้องน้ำ โดยเฉพาะจุดเกิดเหตุเป็นทางสามแพ่งน้ำจริง ตามโบราณรุ่นพ่อว่าให้ผ่านช่วงน่านน้ำนี้ให้นำลูกมะพร้าวแห้งสีน้ำตาลโยนลงน้ำ เพื่อเป็นตัวแทนกันสิ่งที่มองไม่เห็นดูดเรือ แต่ในรุ่นตนไม่ค่อยมีคนทำแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะจุดธูป 16 ดอก ขอให้เปิดทาง และขอพรหลวงพ่อโต เพราะคนอยุธยานับถือหลวงพ่อโต