กรมการแพทย์ สธ.เผยผลศึกษา โมลนูพิราเวียร์ ได้ผลดีในกลุ่มอาการเล็กน้อย-ปานกลาง ยับยั้งโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ พร้อมเผยไทม์ไลน์เข้าไทย ได้ใช้เร็วที่สุด ธ.ค.นี้
วันที่ 6 ต.ค.64 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวในประเด็นความคืบหน้ายาต้านไวรัส โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ระบุว่า ไวรัสโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อตัวหนามของไวรัส จึงสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนตัวเองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอยู่ทุกสายพันธุ์ในขณะนี้
ในการวิจัยแบบสุ่มระยะที่ 3 MOVe-OUT Trial ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อย-ปานกลางซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน โดยให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยผู้ป่วยทุกรายต้องมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 โรค ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุ 60 ปีขึ้นไป โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิต (ภายใน 29 วัน) ได้ประมาณ 50% โดยในการศึกษาไม่มีผู้ที่ได้รับยาเสียชีวิตเลย อย่างไรก็ดีมีการวิจัย MOVE-IN Trial ในผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งพบว่าไม่ได้ผล
แผนการดำเนินงานของยา โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) นั้น บ.เมอร์ค ซึ่งเป็นผู้ผลิต ได้ยื่นขอรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน หากได้รับอนุมัติจะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจาก FDA โดยทางบริษัทตั้งเป้าจะผลิตให้ได้สำหรับผู้ป่วย 10 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และมีแผนทำสัญญากับฐานผลิตยาหลายแห่งในอินเดีย เพื่อให้ได้ยา โมลนูพิราเวียร์ ที่มีราคาถูกให้กับประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง จะได้ในราคาถูกกว่าประเทศร่ำรวย
กรมการแพทย์ได้หารือกับ MSD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ.เมอร์ค ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคนที่ผ่านมา และได้เซ็นสัญญา Confidential Disclosure Agreement ซึ่งจะไม่มีการเปิดเผยความลับ
ไทม์ไลน์การนำเข้า โมลนูพิราเวียร์ ของประเทศไทย
- ก.ค.-ส.ค.64 - MSD หารือกรมการแพทย์ถึงข้อมูลยา และการวิจัยยา โมลนูพิราเวียร์
- ส.ค.-ก.ย.64 - MSD หารือกรมการแพทย์ถึงการจัดหาจัดซื้อ โมลนูพิราเวียร์ ถึงจำนวนที่สั่งจองจำนวนหนึ่ง
- ก.ย.-ต.ค.64 - MSD หารือกรมการแพทย์ถึงสัญญาซื้อ-ขาย โมลนูพิราเวียร์
- ต.ค.-พ.ย.64 - โมลนูพิราเวียร์ ประมาณการขึ้นทะเบียนกับ FDA
- พ.ย.64-ต้นปี 65 - โมลนูพิราเวียร์ ประมาณการขึ้นทะเบียน อย.และเริ่มใช้งานในประเทศไทย โดยเชื่อว่ายาน่าจะมาถึงไทยในช่วง ธ.ค.64-ม.ค.65
นอกจากนี้ทาง บ.เมอร์ค ยังได้มีโครงการวิจัย MOVe-AHEAD study ซึ่งจะศึกษาวิจัยผลการป้องกันการติดเชื้อในผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำในหลายประเทศรวมถึง รพ.ราชวิถี ในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะเริ่มทำการวิจัยทางคลินิกได้ในต้นเดือน ธ.ค.64 นี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผลทดสอบ โมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดต้านโควิด ลดป่วยหนัก-ตายได้ 50%
- สหรัฐฯ เปิดตัว วัคซีนแบบแปะ ไม่ต้องฉีดให้เจ็บแล้ว
- ไฟเซอร์ เร่งทดลองและพัฒนายาเม็ดต้านโควิด-19 คาดจำหน่ายได้ช่วงปลายปีนี้