กอนช. จับตา พายุไลออนร็อก เข้าอีสาน พายุคมปาซุ กระทบภาคกลาง

7 ต.ค. 64

กรณี พายุไลออนร็อก และ พายุคมปาซุ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้ กอนช. อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. จิสด้า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมประเมินและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูล หลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,749 ลบ.ม./วินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่าน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,784 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยจะไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค.64 ขณะเดียวกัน กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงจากเดิมระบายวันละ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 800 ลบ.ม./วินาที ภายในเที่ยงวันที่ 6ต.ค.นี้ เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมลดระดับลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ปัจจุบันเขื่อนป่าสักฯ ระบาย 933 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยปรับลดลงให้สอดคล้องกับน้ำไหลเข้าเพื่อลดระดับน้ำให้เข้าสู่เกณฑ์ควบคุมเพื่อเตรียมรองรับน้ำที่อาจมีเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อาจจะมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 10 ต.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ สสน. ยังติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำ 2 ลูก เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำลูกแรก มีแนวโน้มต่ำที่จะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมา แต่จะยังคงมีฝนอยู่ตามฤดูกาล ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำลูกที่ 2 มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากกว่าหย่อมความกดอากาศลูกแรก โดย กอนช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางป้องกันพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบริเวณ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ที่ประชุมมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ โดยระบายน้ำในระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเขื่อนอุบลรัตน์จะระบายน้ำด้วยอัตรา 20 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ กลางจังหวัดขอนแก่นแล้ว

รวมถึงการควบคุมน้ำในลำน้ำของแม่น้ำชี-มูล ให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำให้เต็มศักยภาพเพื่อให้ไม่เป็นการหน่วงน้ำ และสามารถระบายน้ำได้ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำที่ไม่สามารถเก็บกักได้ลงแม่น้ำโขงโดยเร็ว

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า จากปริมาณมวลน้ำหลากที่มีการบริหารจัดการโดยเก็บกักในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่แก้มลิงต่างๆ สทนช.เสนอกรอบทางร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ในการวางแผนนำน้ำที่ไหลหลากในทุ่งรับน้ำต่างๆ รวมถึงมวลน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในปัจจุบันมาบริหารจัดการสำหรับฤดูแล้งหน้า ทั้งในลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล-ชี

ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการในเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการรับน้ำในฤดูฝนนี้สามารถทำเกษตรนาปรัง หรือพืชใช้น้ำน้อย ก่อนเสนอเป็นมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/2565 เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปลายเดือนนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วต่อไป

ที่ประชุมติดตามสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์พายุ ที่อาจจะเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งคาดว่าต.ค.นี้ มีโอกาสฝนตกเพิ่มขึ้น อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในบางแห่ง พร้อมทั้งคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ เดือนต.ค.-ธ.ค. 2564 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 668 ตำบล 125 อำเภอ 14 จังหวัด

โดยจำแนกพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในแต่ละจังหวัด โดยที่ประชุมซักซ้อมความพร้อมรับมือสถานการณ์ เครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง จุดอ่อนไหวต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนน้ำมากในเกณฑ์เฝ้าระวัง อาทิ เขื่อนแก่นกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนบางลาง จ.ปัตตานี เป็นต้น

“ที่ประชุมเน้นย้ำทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบการแจ้งเตือนและการประสานงานกับ กอนช. อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยการประสานงาน แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในเกิดประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก” เลขาฯ สทนช. กล่าว

567145

นอกจากนี้ ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดเผย ภาพกราฟฟิก แสดงการพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ 24 ชม. 10 วันล่วงหน้า (7 - 16 ต.ค.64) (ระหว่างเวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จาก ECMWF 2021100612 : วันนี้ร่องมรสุมวิเคราะห์ไม่ได้ มีเพียงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุม ส่วนพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ยังไม่พัฒนาเป็นโซนร้อน จึงยังไม่มีชื่อ แต่ยังต้องติดตาม ระยะนี้ฝนที่เกิดขึ้น มาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ ที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคตะวันออกด้านรับมรสุม ระยะสัปดาห์นี้อากาศมีความแปรปวน โดยเฉพาะทิศทางลม ทางภาคเหนือ อีสานตอนบน มีลมเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มพัดปกคลุม จากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ซึมลงมาปกคลุม เป็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดู (ข้อมูลนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลที่นำเข้าใหม่ ใช้เป็นแนวทางเพื่อประกอบการตัดสินใจ)

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พายุไลออนร็อก จะส่งผลกระทบต่อภาคอีสาน ทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ส่วน พายุคมปาซุ จะส่งผลกระทบกับภาคกลาง ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองในช่วง 11-13 ต.ค. นี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมทางหลวงชนบท อัปเดต 42 เส้นทาง น้ำท่วม รถวิ่งผ่านได้-ไม่ได้
สถานการณ์น้ำท่วม กรมทางหลวง อัพเดทเส้นทางจราจรผ่านได้-ผ่านไม่ได้ 17 จังหวัด
เตรียมรับมือ! ไลออนร็อค พายุลูกใหม่ จ่อถล่มไทย 7 ต.ค. นี้ บิ๊กแจ๊ส จับมือท้องถิ่นลอกคลองหนองเสือ กันน้ำท่วม ปทุมฯ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ