นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ความเสี่ยงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนพบได้น้อยมาก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ได้แก่ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือเจ็บเวลาหายใจ ใจสั่น เป็นลม ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ควรสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเหล่านี้ (ภายใน1 สัปดาห์ ภายหลังฉีด 1 สัปดาห์) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการพักผ่อน
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA มักพบในเข็มที่ 2 มากกว่า เข็มที่ 1 พบว่าเพศชายที่มีอายุ 12-17 ปี จะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาในช่วงอายุ 18-24 ปี ยังไม่มีพบในผู้สูงอายุ การวินิจฉัย โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกเรย์ปอด และการตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ ถ้าสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์โรคหัวใจเพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ
แนวทางการรักษาแบบประคับประคองด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด การรับวัคซีนยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากฉีดวัคซีนมีมากกว่า ความเสี่ยงต่ำของกล้ามเนื้อหัวใจตาย วัคซีนมีประสิทธิภาพมากในการป้องกันการเสียชีวิตและโรคต่างๆ รวมถึงการป้องกันไวรัสชนิดใหม่ที่อันตรายกว่า ทั้งนี้หากได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- #ไฟเซอร์นักเรียน พุ่งอันดับ 1 เทรนด์ทวิต วิจารณ์สิทธิไม่ทั่วถึง นร.ได้ แต่ นศ.ไม่ได้
- สปสช.ชี้หากนักเรียนฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดผลข้างเคียง สามารถขอรับเงินได้ 3 กรณี
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยผลข้างเคียง ซิโนฟาร์ม สำหรับฉีดเด็กและเยาวชน
Advertisement