กรณี เดลตาพลัส เมื่อวันที่ 25ต.ค.ที่ผ่านมา หมอเฉลิมชัย หรือ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ใน blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” หลังจากที่มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด “เดลตาพลัส” เป็นรายแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระบุหัวข้อว่า พบไวรัสเดลต้าพลัส (Delta Plus) รายแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แพร่ระบาดเร็วขึ้น 15%
หลังจากที่มีข่าวการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ในอังกฤษ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 6 จนทางการอังกฤษจัดให้เป็น VUI (Variant Under Investigation) เนื่องจากมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นไวรัสที่น่าเป็นกังวล : VOC (Variant of Concern) เพราะยังขาดข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน
ไวรัส “เดลตาพลัส” เป็นปัจจัยที่ทางอังกฤษให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน แต่คงไม่ได้เกิดจากปัจจัยไวรัส Delta Plus เพียงลำพัง แต่น่าจะเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการของทางการอังกฤษ ร่วมกับการที่ประชาชนอังกฤษหย่อนวินัยในการป้องกันโรคระบาด
และจากกรณีที่ทางกรมควบคุมโรค ได้แถลงว่า พบไวรัส Delta Plus ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากการถอดรหัสจีโนม ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยพบว่า มีสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาในประเทศไทย 4 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะการแพร่ระบาด หรือความสามารถในการก่อโรครุนแรง แตกต่างกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 และในช่วงเดือนกันยายน 2564 จากการถอดรหัสตามปกติ ได้พบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นไวรัสเดลตาพลัส ( AY.4.2)
จึงสมควรที่จะทำความรู้จักไวรัสก่อโรคโควิด และไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อย “เดลตาพลัส” ดังนี้
โควิดเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7
ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมคู่ สิ่งมีชีวิตสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย
จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีจำนวนโดยประมาณมากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อย
ในการแบ่งกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ จะใช้เรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน โดยกลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญก็คือ กลุ่มที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ แอลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลตา
ในกลุ่มไวรัสเดลตานั้น พบสายพันธุ์ย่อยแล้ว กว่า 20 สายพันธุ์ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 ไทยพบ 4 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งไม่มีไวรัสสายพันธุ์ “เดลตาพลัส”
ไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ย่อย จากสายพันธุ์ที่เคยพบเมื่อเดือนสิงหาคมแล้ว และขณะนี้พบระบาดในประเทศอังกฤษ
ขณะนี้ประเทศไทย ได้พบไวรัสเดลตาพลัส 1 ราย นับเป็นรายแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เดลตาพลัส เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าไวรัสเดลตา 15% ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีนยังไม่มีการรายงาน
กล่าวโดยสรุป ไทยได้พบไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว นับเป็นรายแรก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายอื่น ๆ เพิ่มเติม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะแถลงรายละเอียดในวันนี้ (26 ตุลาคม 2564)
เดลตาพลัส แพร่รวดเร็วขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงสมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนกตกใจ เพียงแต่ให้ตระหนักว่า ไวรัสมีความสามารถในการปรับตัวเก่งมาก มนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทุกประเทศ จะต้องระดมออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทยพบผู้ป่วยโควิด เดลต้าพลัส 1 ราย ที่พระนครศรีอยุธยา
- สธ. เผย ไทยพบโควิดกลายพันธุ์ อัลฟาพลัส 18 ราย - เดลตาพลัส (AY.1) 1 ราย
- เช็กเลย 7 จังหวัดเปิด ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฟรี กลุ่มประชาชนทั่วไป - เด็กอายุ 12-18 ปี