จากกรณีมีการรายงานข่าวว่ากระทรวงต่างประเทศ สั่งเบรก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับ โมเดอร์นา บริจาคจากโปแลนด์เองนั้น ล่าสุดวันนี้(26 ต.ค.64) กรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีรายงานว่า กระทรวงต่างประเทศ “เบรก” การบริจาคหรือการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาจากโปแลนด์ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เป็นรายงานที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ตามรายละเอียด ดังนี้
1.กระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ที่ อว 67/ร1135 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2564 และ 2) ที่ อว 67/264 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2564 แจ้งว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับแจ้งจากองค์กร RZADOWA AGENCIA REZERW STRATEGICZNYCH (RARS) ซึ่งเป็นองค์กรของโปแลนด์ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ว่ามีความประสงค์บริจาควัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 3,000,000 โดส ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาแจ้งเพิ่มเติมว่ามีความพร้อมที่จะจัดส่งวัคซีน 1,500,000 โดส
ในการนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศในการนำวัคซีนดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ อำนวยความสะดวกตรวจสอบวัคซีน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของโปแลนด์ในการจัดส่งวัคซีนดังกล่าวจากโปแลนด์มายังประเทศไทย และขอบคุณโปแลนด์ในนามประเทศไทย
2.จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า หน่วยงานผู้บริจาคคือ RARS และหน่วยงานผู้รับบริจาคคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หารือเรื่องการบริจาควัคซีนดังกล่าวโดยตรงกันมาตั้งแต่แรก โดยกระทรวงการต่างประเทศไม่เคยขัดขวางการหารือดังกล่าวในรูปแบบใดๆ
3. อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยได้รับการยืนยันเรื่องการบริจาคนี้ ในระดับรัฐบาลผ่านกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ หรือสถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย โดยสถานะล่าสุดที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์คือ หน่วยงานต่างๆ ของโปแลนด์ยังหารือกันอยู่ในเรื่องการบริจาคนี้ โดยที่การบริจาคในระดับรัฐบาลยังไม่ได้รับการยืนยัน ขณะที่ RARS ได้แจ้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วว่า ประสงค์จะบริจาควัคซีนให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หนังสือกระทรวงการต่างประเทศตามที่เป็นข่าวจึงระบุว่า น่าจะเป็นการเหมาะสมที่หน่วยงานผู้รับบริจาคคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะหารือโดยตรงกับหน่วยงานผู้บริจาค คือ RARS โดยไม่มีข้อความใดในหนังสือกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นข่าว ที่คัดค้านหรือ“เบรก” ว่าไม่เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะดำเนินการเรื่องการบริจาค หรือการนำเข้าวัคซีนจากโปแลนด์มายังประเทศไทยในครั้งนี้
4. ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ระบุว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หมายความรวมถึงการจัดหา หรือนำเข้า วัคซีนและเวชภัณฑ์ด้วย ซึ่งคล้ายคลึงกับที่องค์กรอื่นเคยดำเนินการมาแล้ว
กระทรวงการต่างประเทศไม่มีอำนาจเชิงกฎหมายใดที่จะ “เบรก” การดำเนินการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการทำความตกลงกับหน่วยงานต่างประเทศ หรือการนำเข้าวัคซีนตามที่เป็นข่าว
5. กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทาง ที่จะสามารถสนับสนุนการตรวจสอบวัคซีน การจัดส่งวัคซีน หรือการนำเข้าวัคซีน ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร้องขอ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาคุณภาพของวัคซีน ทั้งยังมีกฎหมายควบคุมหลายฉบับเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน
กระทรวงการต่างประเทศจึงได้แนะนำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หารือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงในเรื่องนี้ และน่าจะอยู่ในสถานะที่ให้คำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดีกว่ากระทรวงการต่างประเทศ
6. ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งการบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จากมิตรประเทศเกือบ 10 ประเทศมายังรัฐบาลไทย ในสัญญาระหว่างประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้รับบริจาคทุกฉบับ มีประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งคือ “ประเด็นการชดเชยความเสียหาย” (indemnity) ในกรณีที่ผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดผลข้างเคียง
ด้วยเหตุนี้ หนังสือกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นข่าว จึงให้คำแนะนำว่า นอกจากเรื่องกระบวนนำเข้าวัคซีนแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจพิจารณาหารือกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรง ในประเด็นการชดเชยความเสียหายด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองสูงสุดประชาชนผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นหลัก
7. นอกจากนี้ ในการทำสัญญาระหว่างประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้รับการบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca) และวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ตามข้อ 6. ทุกฉบับ
บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องรับทราบและให้ความเห็นชอบการบริจาค ทั้งสัญญาการบริจาคทุกฉบับยังมีรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย อาทิ การห้าม มิให้นำวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยที่การดำเนินการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ข้างต้นจะเป็นการรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นาเป็นครั้งแรก โดยที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาสัญญาการบริจาคระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ RARS
กระทรวงการต่างประเทศให้คำแนะนำโดยสุจริตใจและอย่างมืออาชีพว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าจะพิจารณากระบวนการรับบริจาคอย่างถี่ถ้วน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองไม่ให้ถูกร้องเรียนจากฝ่ายใดในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถูกมองว่ามีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ได้รับบริจาค
8. กระทรวงการต่างประเทศได้มีบทบาทแข็งขันในการเจรจาจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทย ทั้งในรูปแบบการซื้อ ซื้อต่อ แลกเปลี่ยน และรับบริจาค มาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะดำเนินภารกิจสำคัญนี้ต่อไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงต่างประเทศ ค้าน ธรรมศาสตร์ รับ โมเดอร์นา บริจาคจากโปแลนด์เอง
- ยืนยัน ไทยจะได้วัคซีน โมเดอร์นา 5.6 แสนโดส ภายใน 5 พ.ย.นี้
- มธ.จับมือ เอกชน เจรจานำเข้า ไฟเซอร์-โมเดอร์นา รวม 10 ล้านโดส
Advertisement