ศาลมุกดาหาร ตัดสินคดี ลุงพล ทำร้ายร่างกายนักข่าว ปรับ 5 พัน จำคุก 1 ปี ศาลชี้เป็นความผิดครั้งแรกและเจ้าเลยให้การสารภาพ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 28 ต.ค.64 นายไชย์พล วิภา พร้อมนางสมพร หลาบโพธิ์ และนายสมเกียรติ โรจนวรกมล ทนายความส่วนตัวเดินทางมาตามนัดศาลจังหวัดมุกดาหารเพื่อรับฟังคำตัดสินของศาล ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชย์พล หรือ พล วิภา จำเลยเรื่องข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายและทำร้ายร่างกายผู้อื่นฯ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงสายของวันนี้ (19 ม.ค.64) ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นขณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดมุกดาหารนำเอกสารร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ที่ร้องให้ตรวจสอบไม้ตะเคียนที่ศาลแม่ตะเคียนโสรภีข้างบ้านลุงพล โดยระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังอ่านข้อร้องเรียนให้ลุงพลฟังท่ามกลางสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าว จู่ๆ ลุงพลเกิดอาการของขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุเข้าแย่งไมค์สื่อทีวีดิจิทัลช่อง 34 อมรินทร์ทีวี ซึ่งผู้สื่อข่าวช่องดังกล่าวพยายามชี้เเจงว่าได้เข้ามาทำหน้าที่ตามปกติ หลังจากนั้นลุงพลได้โผเข้าใส่ก่อนทุบหลัง 2 ครั้ง พร้อมกับผลักไหล่ ก่อนจะพยายามบีบคอเเละกระชากหน้ากากอนามัยออก หลังจากนั้นได้มีกลุ่มยูทูบเบอร์ที่ติดตามลุงพลมาดึงลุงพลออกไป
ซึ่งหลังจากให้เวลาเข้าฟังคำตัดสินประมาณ 1 ชั่วโมง ศาลได้ตัดสิน คดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายไชย์พล วิภา จำเลย ในความผิดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 309 วรรคแรก, 391 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท พิเคราะห์ผลการชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายแล้วไม่ปรากฏอันตรายร้ายแรง และจำเลยได้ลุแก่โทษโดยนำเงินค่าเสียหายมาวางศาล จึงให้โอกาสแก่จำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอื่น ในคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษา จึงยกคำขอในส่วนนี้