นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพื่อสนับสนุนนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของ รมว.สาธารณสุข “ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน”
ทั้งนี้จากนโยบายดังกล่าวของ รมว.สาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้ดำเนินการนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 เรื่อง ดังนี้ ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ดำเนินการแล้วในเขตพื้นที่เขต 7 (ขอนแก่น) เขต 8 (อุดรธานี) เขต 9 (นครราชสีมา) เขต 10 (อุบลราชธานี) และเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ดำเนินการทั่วประเทศ, ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน ดำเนินการทั่วประเทศ และผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โดยนำร่องดำเนินการเฉพาะในเขต 9 (นครราชสีมา) และเขต 13 (กรุงเทพมหานคร)
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่หน่วยบริการประจำ ซึ่งได้รับการตอบรับจากการนำร่องที่เขต 9 (นครราชสีมา) และเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) เนื่องจากได้เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ โดยเขต 9 (นครราชสีมา) มีการดำเนินการจำนวน 82,599 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อร้องเรียน (ข้อมูล 30 เม.ย. 64 / ผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 เดือน ปีงบประมาณ 2564)
จากข้อมูลดังกล่าว ในปี 2565 สปสช. จะขยายการบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเข้ารับบริการผู้ป่วยในทั่วไปทุกรายการ ทั้งกรณีเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในเขตหรือข้ามเขต โดยที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่นนอกจากหน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง โดย บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบประกาศฯ ฉบับนี้เพื่อรองรับ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้บุคคลที่ได้ลงทะเบียนแล้ว ให้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้จากหน่วยบริการประจำของตนหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง หรือจากหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจำของตน หรือเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องส่งต่อ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการออกประกาศฯ นี้ จะทำให้การเข้ารับบริการผู้ป่วยในทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร ในการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช. เหมาจ่ายผู้ป่วยโควิดใช้สิทธิบัตรทอง ในระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนวันละ 1,000 บาท
- ขั้นตอนขอรับ เงินเยียวยาแพ้วัคซีน จาก สปสช.
- สปสช.ชี้หากนักเรียนฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดผลข้างเคียง สามารถขอรับเงินได้ 3 กรณี
Advertisement