วันที่ 19 พ.ย. 61 หลังจากเพจเฟซบุ๊ก “ครูนอกกรอบ” ได้โพสต์ภาพ และข้อความ ข้อสอบเด็กนักเรียนประถมศึกษาชั้น ป.1 ว่า เป็นคำถามที่ยากเกินไป ไม่เหมาะกับวัย อาจทำให้เด็กที่ทำไม่ได้ ท้อแท้ เครียด จนไม่อยากมาเรียน โดยหลายคน ต่างเข้ามาแสดงความเห็น เรื่องนี้กันมากมาย รวมทั้งยังสงสัยว่า คำตอบคืออะไร โจทย์ “คูนามีรู ในรูมีปู งูดูอีกา ไปที่รูปู” จากนั้นได้ตั้งคำถามว่า ใครที่ไปคูนา ระหว่าง งู ปู และอีกา
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า มองว่า คำถามดังกล่าว หากเป็นแบบฝึกหัด ข้อสอบเก็บคะแนน หรือเป็นข้อสอบปลายภาค ส่วนตัวมองว่ายากเกินไป สำหรับข้อสอบเด็ก ป.1 หากคำถามดังกล่าวเป็นข้อสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน ตนเองมองว่าไม่แปลก เพราะโรงเรียนอาจจะต้องการคัดกรองเด็กที่เก่ง ทำข้อสอบเชิงวิเคราะห์ได้
ซึ่งการออกข้อสอบเข้าโรงเรียน อยู่ที่ดุลยพินิจของโรงเรียนนั้น ๆ แต่ข้อสอบข้อยาก อาจจะผสมอยู่กับข้อที่ง่ายก็ได้
ขณะเดียวกันได้เกิดกระแสดราม่า ซึ่งบางคนมองว่า โจทย์ยากไป อาจทำให้เด็กเครียด รวมถึงแสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา นั้นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยอาจจะชินกับการศึกษาแบบจดแลคเชอร์ หรือระบบท่องจำ รวมทั้งชินกับโจทย์ที่มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น 1+1 = 2 โดยคำถามข้อนี้ ต้องใช้การวิเคราะห์ ผู้ใหญ่จึงมองว่ายากเกินไป
แม้ข้อสอบข้อดังกล่าวจะยากเกินไปสำหรับ ป.1 แต่ตนยอมรับว่า เป็นคำถามที่ดี ช่วยให้เด็กมีจินตนาการ อ่านโจทย์แล้วได้วิเคราะห์ หาคำตอบที่ถูก ได้คิดตาม คิดให้เห็นภาพ ซึ่งเรียกว่า “จินตภาพ”
อย่างไรก็ตาม
อาจารย์วรัชญ์ บอกว่า โจทย์คำถามข้อนี้กำกวม แต่ตนคิดว่าคำตอบที่ถูกต้องที่สุดคือ “อีกา” เพราะโจทย์ถามว่า “งูดูอีกา ไปที่รูปู” ใครไปคันนา? โดยรูปูอยู่ที่ท้องนา ดังนั้น อีกาไปที่รูปู เท่ากับว่า “อีกา” เป็นผู้ที่ไปท้องนา