ญาติยันไม่มีประวัติแพ้กุ้ง คาใจ รพ.ฉีดยา 3 เข็ม ดิ้นทุรนดับ - พ่อค้างง ถูกโยงเป็นต้นเหตุ (คลิป)

24 พ.ย. 61
วันที่ 23 พ.ย. 61 นางบุญยืน จันทร์เจิม อายุ 50 ปี ร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ลูกสาวตัวเองได้ไปซื้อกุ้งเต้นที่ตลาดสะพานขาว เมื่อกินเข้าไปก็มีอาการแพ้ ได้อาเจียนออกมา และได้ให้กินยาแก้แพ้เข้าไปเวลา 21.00-22.00 น. อาการแพ้ก็ลดลง จนถึงช่วงเช้าลูกสาวตนก็ยังมีอาการปากบวมอยู่ ตนจึงให้ลูกไปหาหมอเพื่อจะฉีดยา
นางบุญยืน จันทร์เจิม แม่ผู้เสียชีวิต
จากนั้นลูกสาวตนได้ขับรถจักรยานยนต์ไปโรงพยาบาลกับหลานสาว และตนเองก็ไปด้วย เมื่อไปถึงเวลาประมาณ 10.30 น. แพทย์ได้วัดความดัน พร้อมกับนำเข้าห้องฉีดยาจำนวน 2 เข็ม และให้นอนรอดูอาการ
ผู้เสียชีวิต
จากนั้นครู่หนึ่งพยาบาลจึงเข็นเครื่องช่วยหายใจมา ส่วนลูกสาวของตนมีอาการทุรนทุรายชักดิ้นไปมา ไม่ได้สติ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข็นไปห้องไอซียู ซึ่งตนเองไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั่งแพทย์ได้เรียกไปคุย และแจ้งว่าลูกสาวตนเองมีภาวะหัวใจโต หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด หมอฉีดยาไป 2 เข็ม โดยเข็มที่ 3 คือยากระตุ้นหัวใจ เพราะผู้ป่วยความดันต่ำ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ส.ค. เวลา 06.30 น. ซึ่งตนเองรับไม่ได้ จึงส่งร่างของลูกสาวไปผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยแพทย์ระบุสาเหตุการตายว่าระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจล้มเหลว
ภาพจำลองเหตุการณ์ ขณะเข้ารักษาอาการหลังแพ้กุ้ง
จากนั้นตนเองจึงไปแจ้งความไว้ที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เพราะติดใจการเสียชีวิตของลูก นอกจากนั้น หลังจากลูกสาวเสียชีวิตตนเองต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน เพราะปกติลูกสาวทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว และเลี้ยงลูกสาววัย 5 ขวบ หลานสาวร้องถามหาแม่ทุกวันว่าแม่ไปไหน ทำไมไม่กลับมา
ตลาดนัดสะพานขาว จ.ปทุมธานี
ที่ตลาดนัดสะพานขาว จ.ปทุมธานี ซึ่งมีการค้าขายทั้งอาหารสด อาหารปรุงสุก รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องใช้ โดยส่วนใหญ่คนที่มาจับจ่ายซื้อของ จะซื้อของสด และอาหารที่ปรุงสุก
นายสุรศักดิ์ สุขจำลอง หรือ แก๊ป พ่อค้าขายยำกุ้งเต้น
โดยนายสุรศักดิ์ สุขจำลอง หรือ แก๊ป อายุ 36 ปี พ่อค้าขายยำกุ้งเต้นในตลาดนัด เปิดเผยว่า หลังทราบข่าว ตนก็รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากร้านของตนเปิดขายมาแล้วประมาณ 9 ปี และไม่เคยพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ตนขายยำกุ้งเต้นปกติทั่วไป โดยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากเป็นเพราะอาหารตนไม่ได้คุณภาพ ก็อาจมีลูกค้ารายอื่นที่ซื้อไปรับประทานได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีใครได้รับผลกระทบเลย
กุ้งเต้นในร้านของนายสุรศักดิ์
ส่วนการขายยำกุ้งเต้น ตัวเองมีประสบการณ์ระดับหนึ่ง สามารถที่จะปรุงและขายถูกหลักอนามัย แต่การกินกุ้งสดจำนวนมาก ไม่ได้เรียกว่าเป็นผลดี แต่ส่วนใหญ่มากสุด เพียงแค่ท้องเสีย เพราะความสดเกินไป ซึ่งตนยังไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีใครเสียชีวิต จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะผู้เสียชีวิตเป็นคนที่แพ้กุ้งอยู่แล้ว เมื่อกินเข้าไปจึงเกิดอาการแพ้ แล้วแบบนี้ใครจะเป็นคนผิด เมื่อมีคนเดินเข้ามาซื้อ ตนเองก็ไม่ได้ถามว่าใครแพ้หรือไม่ ดังนั้นตนจึงขอฝากถึงคนทั่วไป ถ้าหากรู้ว่าตนเองเป็นคนแพ้กุ้ง หรืออาหารทะเล ก็ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่ตัวเองแพ้ และอย่าเสี่ยงลองกินเด็ดขาด
นางสาวอิง (นามสมมติ) น้องสาวผู้ตาย
ด้าน นางสาวอิง (นามสมมติ) น้องสาวผู้ตาย เปิดเผยว่า พี่สาวอยากกินยำกุ้งเต้น จึงซื้อกลับไปกินที่บ้านตามปกติ ขณะที่กินยำกุ้งเต้นไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทานเมนูอื่นเข้าไปร่วมด้วย จากนั้นพี่สาวเริ่มมีอาการแพ้ โดยอาเจียน หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ซึ่งแม่ได้ให้ยาแก้แพ้ไป 2 เม็ด จนกระทั่งหลับไป และตื่นเช้ามายังมีอาการปากบวมอยู่ แต่ก็เดินทางไปทำงานตามปกติ จนกระทั่งอาการยังไม่หายดี จึงได้ขับรถไปโรงพยาบาล ขณะนั้นหมอได้ฉีดยาให้ 2 เข็ม คือ ยาแก้แพ้ จากนั้นห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็เริ่มวุ่นวาย เพราะมีพยาบาลได้นำเอาอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจเข้าไป แม่จึงแอบสังเกตภายในห้อง จนกระทั่งพบว่าพี่สาวนอนดิ้นอยู่บนเตียง คล้ายกับปลาโดนทุบหัว  จากนั้นพี่สาวก็ช็อกคาที่นอน หมอได้ฉีดยาเข้าไปอีก 1 เข็ม เป็นยากระตุ้นหัวใจ ซึ่งพี่สาวก็ยังไม่ฟื้น และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก่อนถูกนำตัวขึ้นไปยังห้องไอซียู แต่ส่วนตัวเชื่อว่าพี่สาวหมดสติตั้งแต่อยู่ในห้องตรวจด้านล่างแล้ว จากนั้นพี่สาวก็ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล และทางโรงพยาบาลได้เรียกให้แม่ และตนเองเข้าไปพบ โดยแจ้งว่าเหตุของการเสียชีวิตครั้งนี้คือ หัวใจโต น้ำท่วมปอด แต่ที่ผ่านมาพี่สาวไม่เคยมีประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ นางสาวอิง กล่าวต่อว่า ผู้ตายไม่เคยมีประวัติการแพ้กุ้ง หรืออาหารทะเล ขณะนี้ยังติดใจการเสียชีวิตจากการรักษาที่โรงพยาบาลมากกว่าการกินยำกุ้งเต้น เพราะตั้งข้อสังเกตว่าในวันเกิดเหตุพี่สาวได้ขับรถไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายกลับต้องเสียชีวิตลง
นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล หรือ หมอกอล์ฟ แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม
นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล หรือ หมอกอล์ฟ แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม และแอดมินเพจคุณหมอสตอรี่ เปิดเผยว่า การแพ้อาหารคือการที่ทานอาหารแล้วร่างกายหลั่งสารฮิสตามีนออกมามากจนผิดปกติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าฮิสตามีนจะไปออกที่อวัยวะใดมากเป็นพิเศษ อาการแพ้ก็จะแสดงในอวัยวะส่วนนั้น เช่น ปากบวม ผื่นคัน แต่ถ้าหากแพ้มาก ก็จะทำให้ความดันต่ำ หัวใจเต้นอ่อน และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว แต่จากกรณีนี้ การเสียชีวิตแบ่งเป็น 2 แบบ คือการแพ้อาหารอย่างรุนแรง และการแพ้ยา ซึ่งจากอาการที่ระบุนั้น ผู้เสียชีวิตแพ้อาหารไม่รุนแรงมาก เนื่องจากมีปากบวมเท่านั้น แต่แม้ว่าจะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่การแพ้อาหารนั้นสามารถแสดงอาการภายในพร้อมกันได้ด้วย ซึ่งอาจจะรุนแรงจนทำให้อวัยวะล้มเหลว หายใจติดขัด แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัว กระทั่งปล่อยให้เวลาล่วงเลย และรักษาไม่ทัน แม้ว่าจะฉีดยาถึง 3 เข็ม ซึ่งตนคาดว่ายา 2 เข็มแรกนั้นคือยาแก้แพ้ แต่เมื่อผู้ป่วยอาการหนักขึ้นและร่างกายไม่ตอบสนอง จึงต้องฉีดยาเข็มที่ 3 คืออะดรีนาลีน ช่วยกระตุ้นหัวใจเพื่อกู้ชีพผู้ป่วยไม่ให้เสียชีวิต ส่วนอีกกรณีคือ ผู้ป่วยอาจจะแพ้ยาแก้แพ้ที่ถูกฉีดเข้าไป ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่โชคร้ายมาก เพราะการรับยาที่แพ้เข้าไปอีกนั้น จะทำให้ความดันต่ำได้ในทันที ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแพ้อาหารหรือการแพ้ยา ก็จะสามารถแสดงอาการชักที่รุนแรงออกมาได้ทั้งหมด เพราะอาการชักดิ้นทุรนทุรายนั้น เป็นการทำงานของร่างกายที่เรียกว่าลมหายใจเฮือกสุดท้าย คือร่างกายพยายามตอบสนองเพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ แม้ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตแล้วก็สามารถนำเลือดมาตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากการแพ้ยาหรือแพ้กุ้ง

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ