นพ.ยง เผยยังไม่มีหลักฐานว่าอาการป่วย โอไมครอน รุนแรงกว่า เดลต้า แต่ในแง่ของการกระจายเชื้อ โอไมครอน กระจายง่าย ระบาดง่าย ซึ่งหากการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ โอไมครอน จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ เดลต้า ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
วันที่ 5 ธันวาคม 64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ "โควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน" หรือ โอไมครอน (Omicron) โดยระบุว่า
นับตั้งแต่เริ่มพบ และวินิจฉัยสายพันธุ์ โอมิครอน ได้ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน องค์การอนามัยโลก ประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 26 พฤศจิกายน
ความจริงโอมิครอนนี้ ได้หลบซ่อนกระจายไปหลายท้องที่ เพราะไม่ได้มีการตรวจสายพันธุ์ ในผู้ป่วยทุกราย จึงไม่แปลก ในปัจจุบันพบมากกว่า 20 ประเทศ และเริ่มพบในผู้ที่ไม่เคยเดินทางไปแอฟริกาตอนใต้ Local transmission) เช่น ในประเทศนอร์เวย์ ก็มีการระบาดภายในประเทศเกิดขึ้น อเมริกาเองที่มีการตรวจสายพันธุ์มาก ก็พบในประชากรที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แสดงถึงการระบาดในท้องที่แล้ว
การตรวจสายพันธุ์ ไม่สามารถตรวจได้ทุกราย ทุกแห่ง เพราะมีขีดจำกัด ถ้าตรวจน้อยก็จะไม่พบ
โอมิครอน พบได้แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว การติดเชื้อซ้ำ จากรายงานมาจนถึงขณะนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย แต่ปริมาณไวรัสในลำคอมีปริมาณมาก
เช่น ผู้ป่วยในฮ่องกง มีปริมาณไวรัสค่อนข้างสูง และได้รับวัคซีนมาก่อน และสามารถติดต่อไปยังห้องตรงข้ามได้
เหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดในประเทศไทย ในระยะแรกของสายพันธุ์เดลต้า ที่บุคคล 2 คน ได้มากักตัวในโรงแรม อยู่ชั้นเดียวกัน และก็ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันที่แน่ชัดได้ว่าโรคนี้ ติดต่อผ่านทางอากาศ ที่ลอยไปมาแน่นอน การสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ บางครั้งเป็นการยากที่จะบอก อาจจะมีคนกลาง สัมผัสเป็นสื่อ ข้ามไปมา
โอมิครอน แพร่กระจายได้ง่าย ระบาดได้ง่าย จึงพบได้อย่างรวดเร็ว และกระจายไป ในหลายทวีป ยังไม่มีหลักฐานว่า อาการที่เกิดจากสายพันธุ์นี้ จะรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม เดลต้า ถ้าการแพร่กระจายได้เร็วกว่า สายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จากข้อมูลถึงปัจจุบัน รวมทั้งที่มีการระบาดนอกแอฟริกาตอนใต้ จะเห็นว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีกประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย ยังไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการมาก ถึงต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต
การฉีดวัคซีนให้มีภูมิต้านทาน แล้วสายพันธุ์นี้ระบาด มีอาการน้อย โรคไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต และจะเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นและอยู่นาน ก็จะเป็นไปตามวิวัฒนาการของไวรัส ในการปรับตัวให้ลดความรุนแรงของโรคลง เหมือนโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจในเด็กที่พบอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเลย