ศึกษาฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในชั้นผิวหนังประหยัดวัคซีนได้เกินครึ่ง

9 ธ.ค. 64

เชฟรอนร่วมสนับสนุนไซเครส (ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช) ศึกษาฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในชั้นผิวหนังประหยัดวัคซีนได้เกินครึ่ง เว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มสองเหลือ 21-28 วัน


สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยภาพรวมมีแนวโน้มคลี่คลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วถึง 48 ล้านคน หรือกว่า 66.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ขณะที่ประชากรกว่า 41.2 ล้านคนได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564) เข้าใกล้เป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการให้ประชากร 50 ล้านคน หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจากวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง

ด้วยเหตุนี้ การได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ให้เร็วที่สุด จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น โดยวัคซีนแต่ละชนิดมีระยะห่างระหว่างการฉีดเข็มที่ 1 และ 2 แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ในสภาวะการขาดแคลนวัคซีน การใช้ปริมาณวัคซีนน้อยที่สุดจะสามารถกระจายวัคซีนได้มาก และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติการฉีดวัคซีนตามมาตรฐานทั่วไปจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวด แบ่งฉีดได้ 6 โดส ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด แบ่งฉีดได้ 12 โดส

และนี่คือโจทย์ของโครงการนำร่องการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ด้วยการฉีดเข้าในผิวหนัง ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (Siriraj Institute of Clinical Research หรือ SICRES) และร่วมสนับสนุนงบประมาณโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal หรือ ID) จากปกติที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งมีการศึกษาการฉีด 2 รูปแบบ แบบแรกศึกษาโดยการเลียนแบบการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่จะฉีดครั้งละ 2 จุด ห่างกัน 7 วัน และการฉีดแบบ 1 จุด ห่างกัน 21-28 วัน ซึ่งใช้ปริมาณวัคซีนเพียงเข็มละ 15-20% ของขนาดปกติที่ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อนั้น จะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน และอาการไม่พึงประสงค์ลดลงหรือไม่ แตกต่างจากการให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้ออย่างไร อันจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้วัคซีนกับประชากรในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยประหยัดปริมาณการใช้วัคซีนภายในประเทศได้ และยังได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการให้วัคซีนโควิด-19 กับประชากรไทยในอนาคตอีกด้วย

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ (ที่สองจากขวา) ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มอบงบประมาณจำนวน 500,000 บาท แก่ ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ (ที่สองจากซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการนำร่องการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ด้วยการฉีดเข้าในผิวหนัง

เพิ่มการเข้าถึงวัคซีน กระจายสู่ประชากรได้มากขึ้น
ผศ.ดร.พญ.สุวิมล นิยมในธรรม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาและแนวคิดของการศึกษาในครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาที่ผ่านมาถึงการให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าในผิวหนังของวัคซีนหลายๆ โรค พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับการให้วัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าในผิวหนังก็น้อยกว่าการให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จึงคาดว่าการให้วัคซีนโควิด-19 โดยการฉีดเข้าในผิวหนังก็น่าจะให้ผลดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าในผิวหนังโดยทั่วไปจะใช้ปริมาณประมาณ 10% - 20% ของขนาดปกติที่ให้โดยการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกัน และอาการไม่พึงประสงค์ก็น่าจะลดลง”

ผศ.ดร.พญ.สุวิมล นิยมในธรรม
นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังมีแนวคิดในการย่นระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 ด้วยสูตรเร่งด่วน ซึ่ง ผศ.ดร.พญ.สุวิมล ให้เหตุผลว่า “จากการศึกษาที่ผ่านมา แนวทางหนึ่งในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสให้เกิดขึ้นได้เร็วคือการทำให้ร่างกายคุ้นเคยกับไวรัสด้วยการฉีดวัคซีนพร้อมกันหลายจุด และฉีดเข็มกระตุ้นโดยเว้นระยะเวลาไม่นาน ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับวัคซีนครบ และกระตุ้นภูมิโดยเร็ว จะทำให้การป้องกันโรคเต็มที่เกิดขึ้นได้เร็วกว่า โดยการศึกษาในครั้งนี้จะแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับวัคซีนโควิด-19 คนละชนิด โดยฉีดเข้าในผิวหนังของอาสาสมัครครั้งละ 2 จุด โดยมีระยะเวลาของการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 และ 2 ห่างกัน 7 วัน โดยจะเทียบกับการฉีด 1 จุด ห่างกัน 28 วัน ในปริมาณราว 15-20% ของขนาดปกติที่ให้โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ”

ผศ.ดร.พญ.สุวิมล กล่าวต่อไปว่า “เราพบว่ากลุ่มอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทางผิวหนังสูตรเร่งด่วน แบบการย่นระยะเวลาให้เหลือเพียง 7 วันนั้น มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเทียบกับการฉีดเข้าในผิวหนัง 1 จุด ห่างกัน 21-28 วัน พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นด้อยกว่า ซึ่งการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง ทั้ง 2 รูปแบบ พบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด เช่น ปวดหัว ไข้ขึ้น หรืออาการข้างเคียงอื่น ๆ ลดลง และช่วยประหยัดวัคซีนได้ถึง 5 เท่า จึงสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง เป็นการจัดสรรวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระจายสู่ประชากรได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเว้นระยะห่างเพียง 21-28 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่ดี และลดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดได้อีกด้วย”

ผลักดันและต่อยอด
ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เราเล็งเห็นว่าองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จะมีประโยชน์ต่อภารกิจบริหารจัดการวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือจากประเทศไทย เราจึงมีความตั้งใจที่จะศึกษาและนำผลการศึกษายื่นต่อองค์การอนามัยโลกด้วย ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยผลักดันทีมวิจัยศึกษาตั้งแต่ต้น และศึกษาต่อไปในเฟสระยะยาวเช่นกัน รวมถึงบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้น้อยซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม เพียง 6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น อันจะมีส่วนช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส