จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิปวิดีโอจากอินสตาแกรม kwrhome ของนายคิมอูริ พิธีกรรายการทีวีของเกาหลีใต้ และเป็นอดีตสไตล์ลิสต์ของวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง T-ARA ซึ่งข้อมูลที่ถูกโพสต์ ระบุในลักษณะว่า นายคิมอูริ ถูกโชเฟอร์แท็กซี่ไทย ถือไม้ไล่ตีกลางถนนของกรุงเทพฯ
วันที่ 6 ธ.ค. 61
นายกมล (นามสมมติ) ผู้ขับขี่แท็กซี่คันเกิดเหตุ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) เวลา 15.00 - 16.00 น. ตนรับผู้โดยสารจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยการเข้าคิวหน้าห้างฯ ซึ่งตนไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้
จากนั้น รปภ.ที่ดูแลคิวรถ บอกตนว่าผู้โดยสารจะไปสำเพ็ง จากนั้นก็ขึ้นรถตามปกติ โดยตนไม่มั่นใจว่าผู้โดยสารเป็นคนสัญชาติใด แต่คาดเป็นชาวเกาหลี เพราะด้วยภาษาที่เขาพูดกัน ซึ่งผู้โดยสารมี 4 คน จากนั้นตนก็มุ่งหน้าไปสำเพ็ง เมื่อรถถึงถนนเยาวราช ผู้โดยสารคนหนึ่งสะกิดเรียกตนทำท่าทางเหมือนจะบอกว่าไม่ใช่เส้นทางนี้ และยื่นมือถือที่เปิดแผนที่ไว้ให้ตน ซึ่งหนึ่งในผู้โดยสารพูดว่า “สาทร” ตนดูแผนที่จึงตอบเป็นภาษาไทย และทำท่าทางว่าไม่ใช่ตามที่ตกลงกันไว้ แล้วบอกให้ผู้โดยสารไปขึ้นรถคันอื่น เนื่องจากขณะนั้น ตนกังวลว่าจะนำรถยนต์ไปส่งให้อู่รถไม่ทัน เพราะใกล้เวลาส่งรถแล้ว
จากนั้น ผู้โดยสารก็ยอมลงไปจากรถ โดยไม่ได้มีปากเสียงกัน แต่ผู้โดยสารไม่ยอมปิดประตูรถ ตนจึงกวักมือเรียกให้มาปิดประตู ผู้โดยสารก็ทำท่าทางทำนองว่าไม่ปิด ยอมรับว่าตอนนั้นโมโห จึงหยิบแท่งแกนผ้า ที่เป็นกระดาษแข็งออกมา แล้วทำท่าชี้ให้ผู้โดยสารมาปิดประตู แต่เมื่อผู้โดยสารไม่ยอมปิด ตนก็ต้องออกมาปิดเอง และขึ้นรถขับออกไปตามปกติ ยืนยันว่าไม่ได้มีการด่า ต่อว่า หรือทะเลาะกัน อาจจะมีโมโหช่วงที่หยิบแกนกระดาษออกมา แต่ก็ไม่ได้ฟาดหรือทำร้ายผู้โดยสาร และไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าโดยสารด้วย
นายกมล ยอมรับว่า ตัวเองไม่สามารถสื่อสารกับผู้โดยสารได้ ซึ่งต้องใช้ภาษามือกับผู้โดยสาร และไม่ทราบผู้โดยสารพูดอะไร ยืนยันว่าตนไม่ได้พาผู้โดยสารวิ่งรถวน หรืออกนอกเส้นทาง หลังเป็นข่าวตนก็ไม่สบายใจ กังวล ซึ่งขณะนี้กรมขนส่งติดต่อมาหาตนแล้ว โดยมีการนัดหมายให้เข้าไปพูดคุยวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.)
อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้สังคมเข้าใจคนขับแท็กซี่บ้าง สังคมอาจมองว่าแท็กซี่เป็นฝ่ายผิดเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้ผิดก็ตาม ตนขับรถแท็กซี่มากว่า 20 ปี ไม่เคยมีปัญหา แต่หากสังคมมองว่าตนผิด ก็พร้อมที่จะขอโทษ เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน หากผู้โดยสารแจ้งว่าไปสาทรตั้งแต่แรก ตนก็ยินดีที่จะไป แม้จะเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังยืนยันที่จะขับขี่รถแท็กซี่ต่อไป เพราะเป็นอาชีพของตน
ที่สยามพารากอน ซึ่งเป็นจุดต้นทางของแท็กซี่คันดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดรับผู้โดยสารของแท็กซี่โดยเฉพาะ โดยเจ้าหน้าที่ รปภ.ที่จัดคิวคนขึ้นรถให้ข้อมูลว่า ในแต่ละวันจะมีผู้โดยสารขึ้นลงมากกว่า 3,000 คน แต่เบื้องต้นหากเป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเปิดแผนที่ หรือนำนามบัตรของโรงแรมส่งให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อเรียกรถ ซึ่งรถทุกคันจะถูกบันทึกเลขทะเบียนและปลายทางไว้ที่สมุดบันทึก
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการรับผู้โดยสารของรถแท็กซี่คันดังกล่าว พบว่าได้รับผู้โดยสารในวันเกิดเหตุ เวลา 17.40 น. ปลายทางที่ระบุไว้คือ “สำเพ็ง” ซึ่งตรงตามข้อมูลที่นายกมลให้ข้อมูลไว้
ด้านกรมขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างติดตามตัวผู้ขับรถมาชี้แจงข้อเท็จจริง ในวันที่ 7 ธ.ค. 61 จากการตรวจสอบผู้ขับขี่ มีใบอนุญาติขับขี่ถูกต้อง แต่เบื้องต้น พฤติกรรมของผู้ขับรถอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และฐานแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายสูงสุดทุกกรณี