จบดราม่าปลาเต็กเล้งพุ่งปักคอทหาร กูรู ชี้ ไม่เกี่ยวแสงสร้อยวิบวับ แนะขับเรือช้า - เลี่ยงฝึกกลางคืน (คลิป)

14 ธ.ค. 61
จากที่ จท.เกรียงศักดิ์ เพ่งพินิจ นักเรียนหลักสูตรรบพิเศษ นาวิกโยธิน สังกัดพัน.ส.พล.นย. ประสบอุบัติเหตุถูกปลาเต็กเล้งพุ่งชนที่บริเวณไหปลาร้า ในทะเลพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ในระหว่างการฝึก เมื่อกลางดึก คืนวันที่ 11 ธ.ค. 61 หลังจากเกิดเหตุเพื่อนนักเรียน ครูฝึกและพยาบาลได้ปฐมพยาบาลขั้นต้น ก่อนจะนำขึ้นฝั่งและนำขึ้นรถชาวบ้านในพื้นที่ส่ง รพ.แหลมงอบ จ.ตราด และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์วินิจฉัยว่า น่าจะเกิดจากเสียเลือดมาก (อ่าน : รายแรกในไทย! ปลาเต็กเล้งพุ่งปักคอทหารดับ หมอชี้โดนจุดตายพอดี)
จท.เกรียงศักดิ์ เพ่งพินิจ หรือ เบส ผู้เสียชีวิต
วันที่ 13 ธ.ค. 61 ที่ฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี นางพรรณี เพ่งพินิจ อายุ 45 ปี ครอบครัวได้นำศพ จท.เกรียงศักดิ์ ไปตั้งบำเพ็ญกุศล โดยมีพิธีรดน้ำศพในช่วงเวลา 16.00 น.
บรรยากาศพิธีรดน้ำศพ
นางพรรณี เพ่งพินิจ แม่ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ตนทราบข่าวเมื่อช่วงสายของเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ว่า ลูกชายเสียชีวิต ขณะกำลังฝึกภาคทะเล ซึ่งลูกชายจะหมดเขตการฝึกในวันนี้แล้ว แต่กลับมาเกิดเหตุเสียก่อน เนื่องจากปลาตกใจพุ่งจากทะเล ขึ้นเรือยางก่อนชนขาเพื่อนทหารที่อยู่ในเรือยางด้วยกัน และสะบัดเข้าชนลูกชาย ทำให้ปากปลาปักเข้าบริเวณไหปลาร้าเป็นแผลลึก ทำให้เลือดไหลมาก กว่าจะนำเข้าฝั่งได้ต้องใช้เวลานานกว่าชั่วโมง เพราะที่ฝึกห่างจากฝั่ง 12 กิโลเมตร
นางพรรณี เพ่งพินิจ แม่ผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ตนมีลูกชาย 2 คน โดยสามีเป็นทหาร เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2553 ตนก็ได้เลี้ยงลูกมาตลอด น้องเบสเป็นคนดี ใฝ่ฝันอยากเป็นทหารตามพ่อ วันสุดท้ายก่อนจะฝึกจบการฝึกครั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุลูกชายได้โทรมาบอกว่าจะกลับบ้าน แล้วให้ซื้อแกงเขียวหวานไว้ให้ด้วย เพราะอยากกิน ตนก็ซื้อไว้ แต่ก็มาทราบข่าวว่าลูกชายเสียชีวิต ซึ่งก็เสียใจอย่างมาก ทั้งนี้ มีกำหนดฌาปนกิจศพในวันอังคารที่ 25 ธ.ค. นี้
พล.ร.ท.ศังกร พงษ์ศิริ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
ด้าน พล.ร.ท.ศังกร พงษ์ศิริ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กล่าวว่า การเสียชีวิตครั้งนี้ มีระเบียบครอบคลุมทุกอย่าง ว่าจะได้รับอะไรตอบแทนบ้าง ซึ่งตนก็ได้แสดงความเสียใจกับแม่และน้องชาย โดยเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด สำหรับทหารนั้นจะดูแลกันทั้งครอบครัว ไม่เคยทิ้งกัน นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องประดับที่เรียกว่า ด็อกแท็ก ของทหารนั้น อาจจะเป็นสาเหตุให้ปลาเต็กเล้งพุ่งเข้าใส่ทหารเรือเกรียงศักดิ์หรือไม่ โดยระบุข้อความว่า "หาโพสต์ไม่เจอละ เคยเล่าไว้ ถึง ธนูแห่งท้องทะเล ที่เจอคือ มันพุ่งใส่ฝรั่ง แทงท้องทะลุ แล้วตอนเอามันขึ้นมาบนบก มันสะบัด คว้านท้องเป็นรูเลย น่ากลัวมาก จำไว้นะ สิ่งสะท้อนแสงใดใด เงิน สแตนเลส ด็อกแท็ก แหวน สร้อย อย่าใส่ลงเล่นน้ำ ปลาพวกนี้ ไวต่อการสะท้อนแว๊บๆ มันไม่รู้หรอก มันนึกว่าปลา(เกล็ดสะท้อนแสง)กำลังหนี มันจะพุ่งชาร์จตามสัญชาติญาณ"
ข้อความจากเฟซบุ๊ก เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน
พร้อมกันนี้ โลกออนไลน์ได้พูดถึงโพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam นักข่าวสายทหาร ที่เผยแพร่ภาพ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. โดยเป็นภาพขณะ พล.ร.ท.ศังกร พงษ์ศิริ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กำลังมอบป้ายข้อมูลเฉพาะเฉพาะบุคคล หรือ ด็อกแท็ก ให้กับนักเรียนหลักสูตรรบพิเศษ นาวิกโยธิน หรือ รีคอน (RECON)
โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam
ด้าน ดร.วชิระ ใจงาม นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ปลากระทุงเหว หรือ ปลาเต็กเล้ง มักอยู่เป็นฝูง เมื่อมีสิ่งรบกวน ปฎิกริยาตอบสนองเมื่อตกใจคือ จะพุ่งหนี หรือกระโดดหนี แบบกระโดดไปข้างหน้า
ดร.วชิระ ใจงาม นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง ม.เกษตรศาสตร์
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นไปได้ว่าปลาสามารถแทงคนได้ เพราะโครงสร้างของปากปลาจะแหลม และเป็นกระดูก มีขากรรไกรบนและล่าง การพุ่งตัวเหมือนการเขวี้ยงกระดูกแหลมออกไป แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยแรงส่ง ซึ่งปลาชนิดนี้จะมีพฤติกรรมพุ่งหนีเมื่อมีภัยมา และหากเป็นปลาตัวใหญ่ การเคลื่อนไหวจะมีแรงส่งมากพอที่ทำให้ปากแหลมทะลุเนื้อคนเข้าไปได้ จึงมีโอกาสเกิดอันตรายได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และไม่เคยได้ยินว่าถึงขั้นเสียชีวิต
ลักษณะปากของปลากระทุงเหว หรือ ปลาเต็กเล้ง
โดยส่วนใหญ่ปลาชนิดนี้ ชาวประมงมักจะพบบ่อยเวลาออกหาปลาตอนกลางคืน และมีรายงานว่าได้รับบาดเจ็บบ้าง เพราะเรือที่แหวกเข้าไปในฝูงของปลากระทุงเหว ทำให้ปลาต้องหนี และตอบสนองด้วยการกระโดดแบบไม่มีทิศทางที่ เพื่อจะหนีจากภัยให้เร็วและไกลที่สุด ส่วนนักดำน้ำ เวลาใช้ไฟฉายส่องใต้น้ำ ก็ควรถือให้ตั้งห่างจากตัว อย่าตั้งไฟฉายติดกับใบหน้าและลำตัวมากเกินไป เพราะหากมีปลาตัวเล็กว่ายน้ำเข้ามาหาไฟฉาย ปลากระทุงเหวก็จะว่ายตามเข้ามาเพื่อกินปลาตัวเล็ก ๆ อีกที ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำได้
ปลากระทุงเหว หรือ ปลาเต็กเล้ง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรือยางไปฝึกทหารตอนกลางคืน ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าตอนกลางวัน เรือที่ฝึกควรจะต้องมีกำบังด้านข้างเรือ และถ้าต้องขับเรือให้ขับช้า ๆ เผื่อเวลาเข้าไปในฝูงปลา ปลาจะรู้ตัวก่อนและหนีไป เพราะหากขับเรือเร็วและพุ่งเข้าไปในฝูงปลาทันที การตอบสนองของปลาก็จะหนีโดยฉับพลัน และอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ขอบคุณภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam, เพจ เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ