กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือป้องกันควบคุมโรค โควิด หลังแจ้งเตือนเป็นระดับ 4 ป้องกันไม่ให้ ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนถึงหลักหมื่นคน แนะงดไปสถานที่เสี่ยงที่ระบายอากาศไม่ดี งดดื่มสุราในร้าน เลี่ยงการรวมตัวจำนวนมาก เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น งดเดินทางข้ามประเทศ ป้องกันตนเองสูงสุด และตรวจ ATK เป็นประจำ
วันนี้ (6 มกราคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด 19 ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากเป็นไปตามคาดการณ์ หากไม่มีมาตรการหรือความร่วมมือของประชาชน อาจติดเชื้อรายวันเกินหมื่นคนในเร็ววันนี้ แต่การเสียชีวิตยังมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น แม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ จึงต้องขอให้ผู้ที่ยังไม่รับวัคซีนหรือถึงกำหนดรับวัคซีนมารับวัคซีน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
ส่วนการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีการเดินทาง หรือเกิดคลัสเตอร์ เช่น ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่ทำผิดมาตรการ การมีกิจกรรมฉลองช่วงปีใหม่ งานเลี้ยงงานบุญ ดังนั้น หลังกลับจาก ปีใหม่ขอให้เน้นทำงานที่บ้านในช่วงสัปดาห์แรก หากจำเป็นต้องกลับเข้าไปทำงานให้ตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน กรณีผลบวกให้ติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อลงทะเบียนรับยา อุปกรณ์ และติดตามการรักษา
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการประกาศแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 เพื่อขอความร่วมมือ คือ 1.งดไปสถานที่เสี่ยงที่ระบบระบายอากาศไม่ดี แออัด ไม่ใส่หน้ากาก งดรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้าน 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก 3.เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น ขอให้งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท แต่หากมีความจำเป็นขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขนส่งสาธารณะมีมาตรการเข้มงวด ทั้งใส่หน้ากาก ตรวจ ATK กรณีใช้เวลาโดยสารนาน และ 4.งดเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการระบาดสูง และผู้เดินทางกลับมาติดเชื้อจำนวนมาก และช่วงนี้ขอให้ป้องกันตนเองด้วย VUCA ส่วนมาตรการทางกฎหมาย เช่น การปรับพื้นที่สี หรือการปิดสถานที่ต่างๆ ศบค.จะมีการประชุมเพื่อปรับมาตรการวันที่ 7 มกราคม 2565 ต่อไป
“สถานที่เสี่ยงมี 3 ปัจจัย คือ ระบบระบายอากาศไม่ดี คนรวมตัวจำนวนมาก และไม่ใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น โรงงานที่มีระบบระบายอากาศดี เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ไม่จับกลุ่มรับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ร่วมกัน ไม่ถือเป็นสถานที่เสี่ยง หากพบผู้ติดเชื้อไม่แนะนำให้ปิดโรงงาน เพราะเสี่ยงคนงานกระจายตัวกลับบ้านไปแพร่เชื้อ แต่ให้ใช้มาตรการ Bubble & Seal เช่นเดียวกับโรงเรียนก็ไม่ใช่สถานที่เสี่ยง เพราะมีมาตรการดูแลอย่างดี คัดกรองบุคลากรทางการศึกษาเป็นระยะ
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับผู้ป่วย ซึ่งในส่วนศักยภาพเตียงโรงพยาบาล มีจำนวนทั้งหมด 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,066 เตียง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 แห่ง จำนวน 772 เตียง มีผู้ครองเตียงจำนวน 50 ราย คงเหลือ 5,016 เตียง ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 37 แห่ง อยู่ในสถานะ Standby Mode ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 25 แห่ง 3,062 เตียง พร้อมเปิดบริการภายใน 3 วัน จำนวน 12 แห่ง 1,232 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65)
ทั้งนี้ กทม.มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้มีการเตรียมรับมืออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะหลังจากผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามแนวทางการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนด เพื่อเป็นการป้องกัน ลดอัตราการแพร่เชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ด่วน! สธ.แถลงยกระดับเตือนภัย โควิด จาก 3 เป็น 4 กรมการแพทย์ แจ้งเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอก 5
- โควิดชลบุรี ฉุดไม่อยู่! ป่วยใหม่พุ่ง 529 ราย พบคลัสเตอร์ ร้านอาหารพัทยา-นิสิต ม.บูรพา
- โควิดวันนี้ 6 ม.ค.65 ป่วยใหม่ 5,775 ราย เสียชีวิต 11 คน