ชาวไซปรัสและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังชายหาดทางตอนเหนือเริ่มต้นปีใหม่ด้วยภาพตื่นตาตื่นใจของปรากฏการณ์
"พญานาคเล่นน้ำ" เหนือชายฝั่งใกล้กับเมืองไคเรเนีย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 62 ที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ พญานาคเล่นน้ำ เป็นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นเหนือน้ำ แต่จะไม่พัดขึ้นมาบนบก โดยมีลักษณะเด่นเป็นกรวยน้ำไล่ระดับจากพื้นสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า แม้จะดูน่ากลัว แต่ปรากฏการณ์นาคเล่นน้ำมักจะมีกำลังแรงน้อยกว่าพายุงวงช้าง อย่างไรก็ตาม พายุชนิดนี้อาจทำให้เกิดอันตรายหากเข้าไปใกล้ ๆ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อมูลการเกิดพายุงวงช้างและพญานาคเล่นน้ำในระบุว่า การเกิดพายุลักษณะนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ พายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone) พายุนาคเล่นน้ำแบบนี้จึงเรียกว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (tornadic waterspout)
พายุที่เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่าโดยไม่มีฝนฟ้าคะนอง ทำให้อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไปเรียกว่า นาคเล่นน้ำของแท้ (true waterspout) หรือนาคเล่นน้ำที่เกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout)
ติดตามข่าวสารเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่
อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34