จากกรณีสาวขับรถเก๋งพาญาติมาร่วมงานรับพระราชทานปริญญาบัตร ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ในระหว่างช่วงรอรับอยู่นั้น ได้นำของขวัญที่มีผู้นำมามอบให้เพื่อแสดงความยินดีมาเก็บไว้ในรถ โดยมีลูกโป่งสวรรค์ติดมาด้วย ระหว่างขับรถ ได้ดึงสายชาร์จโทรศัพท์ออก ทำลูกโป่งระเบิด เกิดเปลวเพลิงไหม้ในรถ คนขับรถจึงได้ตั้งสติจอดรถ ก่อนที่จะพบว่าคนที่นั่งมาด้วยกัน 3 คน ถูกไฟคลอกได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้มีหนูน้อยวัย 6 ขวบ อาการสาหัส (อ่าน :
ระทึก! ลูกโป่งอัดแก๊สเตรียมฉลองบัณฑิต บึ้มในรถ เจ็บ 3 ราย หนูน้อย 6 ขวบสาหัส)
วันที่ 3 ม.ค. 62 นางสาวบัณฑิตการณ์ อุ่นใจ แม่ของด.ช.อธิป อายุ 6 ขวบ ที่ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส ให้ข้อมูลว่า วันที่เกิดเหตุตนเองเป็นคนขับรถ จึงได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่แขน และหลังเล็กน้อยเท่านั้น
แต่แรงระเบิดทำให้ลูกชายอายุ 6 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นแผลทั่วที่บริเวณใบหน้าและมือทั้งสองข้าง แพทย์ได้ใช้ผ้าปิดแผลพันทั่วใบหน้าและมือ โดยเป็นแผลพุพอง และบวม ปากเจ่อ ซึ่งนิ้วมือของลูกชายเป็นแผลฉกรรจ์ ตนเองคาดว่าช่วงที่ระเบิดลูกอาจใช้มือปัดลูกโป่งออก ทำให้มือทั้งสองข้างของน้องนั้นไหม้ และนิ้วข้างขวาเนื้อหลุดออกไป
โดยลูกชายมีอาการร้องงอแงเมื่อตื่นขึ้นมา เนื่องจากอาการเจ็บปวด ซึ่งในวันนี้ตนเองจะย้ายลูกชายจากโรงพยาบาลนครปฐม ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อผ่าตัดตกแต่ง ส่วนจะมีการรักษาอย่างไรบ้างนั้น จะต้องปรึกษากับแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง
ด้าน
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ก๊าซ 2 ประเภทที่นิยมใช้บรรจุภายในลูกโป่งสวรรค์ คือ ก๊าซฮีเลียม ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อย และก๊าซไฮโดรเจนเมื่อถูกความร้อน จะสามารถเกิดการระเบิดได้ และติดไฟด้วย ทำให้มีการเผาไหม้วัตถุที่อยู่ในบริเวณนั้น
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทราบว่า คนขับรถเก๋งดึงสายชาร์จโทรศัพท์ออกจากนั้นลูกโป่งจึงระเบิด เกิดไฟคลอกหนูน้อย 6 ขวบ สาหัส โดยตนสันนิษฐานได้ว่าก๊าซซึ่งถูกบรรจุในลูกโป่งเป็นก๊าซไฮโดรเจน เนื่องจากพบว่าภายในรถมีเปลวไฟเกิดขึ้น โดยปรากฎเป็นรอยไหม้ของหนัง PVC บนเบาะรถ ทั้งที่ PVC เป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้มากกว่าผิวหนังมนุษย์ จึงสามารถจินตนาการได้ว่าคนเจ็บจะได้รับบาดเจ็บมากขนาดไหน
ส่วนประเด็นที่ทำให้เกิดการติดไฟ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ ความร้อน เชื้อเพลิง และออกซิเจน ส่วนประกายไฟคาดว่ามาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในรถ เนื่องจากจากการให้สัมภาษณ์ของครอบครัวพบว่ามีการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่จากที่จุดบุหรี่ ทำให้เกิดประกายไฟ ซึ่งตนคาดว่าลูกโป่งอาจรั่ว ทำให้ก๊าซไฮโดรเจนหลุดออกมา และเมื่อเกิดประกายไฟจึงทำให้ติดไฟและลุกลามมาที่ลูกโป่ง ประกอบกับในรถมีสภาพจำกัด จึงเกิดแรงอัดซึ่งทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บมากที่สุด
นอกจากนี้ ตนแนะนำว่าไม่ควรนำลูกโป่งชนิดใดก็ตามเข้าไปไว้ในรถยนต์ เพราะจะทำให้เกิดการระเบิด และเกิดการลุกไหม้ได้ อีกทั้งหากก๊าซฮีเลียมและก๊าซไฮโดรเจนรั่วออกมา เมื่อสูดดมเข้าไป ก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจได้