กรณีแพทย์โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก พบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา จากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา ทำให้ข้าราชการสาววัย 40 ปี ตาบอด และพบเป็นผู้ป่วยรายแรกของพิษณุโลก และพบมากที่สุดในภาคอีสาน ขณะที่ทั่วโลกพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย
ล่าสุดวันที่ 2 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานที่สำนักงานคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ม.9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ศ.ดร.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนพ.คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา และผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันแถลงพบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง
ผศ.พญ.สิรินันท์ จักษุแพทย์เจ้าของไข้ เปิดเผยว่า คนไข้เป็นหญิงอายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการ ได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการตาพร่ามัวข้างเดียว ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่พบสาเหตุจึงได้นัดตรวจตาอย่างละเอียดอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ด้วยวิธีการขยายม่านตา และพบว่าตามีการอักเสบและพบพยาธิในวุ้นตา ซึ่งพบเป็นรายแรกของจังหวัดพิษณุโลก
จากรายงานสถิติเคยพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.2505 ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในไทย เป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน ซึ่งรายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 18 ราย จึงต้องส่งตัวผู้ป่วยรักษาร่วมกับจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา
นพ.คณินท์ จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า การรักษาให้ยาฆ่าพยาธิและยาลดอักเสบจากนั้นได้ผ่าตัดโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถนำตัวพยาธิออกมาจากตาได้ ก่อนจะนำส่งตรวจพบว่าพยาธิที่พบเป็นพยาธิปอดหนู ความยาวประมาณ 0.5 ซม. สาเหตุที่เรียกว่าพยาธิปอดหนูเพราะพยาธิตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทากหรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ
ในระยะนี้หากรับประทานอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ อาหารเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ เช่น เคสของคนไข้รายนี้ที่ตัวพยาธิขึ้นตา จึงทำให้เกิดอาการที่พบบ่อย คือ ตามัวลงแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการปวดหรือเคืองตาแต่อย่างใด
จากการซักประวัติของผู้ป่วย พบว่ามีประวัติชอบทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืดที่ทานในเมนูกุ้งแช่น้ำปลาเป็นประจำ และจากการผ่าตัดนำพยาธิออกจากตาเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้แล้ว เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนองได้รับความเสียหายจึงบอดสนิท ซึ่งหลังจากนี้ได้นัดคนไข้รักษาต่อเนื่อง เพื่อเช็กร่างกายอย่างละเอียดว่าพยาธิมีเพิ่มเติมในตำแหน่งอื่นของร่างกายอีกหรือไม่