จากกรณีพบเด็กจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาตัวหลังจากรับประทานอาหารแล้วเกิดไม่สบายอย่างรุนแรง มีอาการซีดเขียว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ซึ่งเข้าได้กับภาวะที่มีสารไปจับในเม็ดเลือดแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนนั้น ซึ่งจากประวัติพบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคไส้กรอกที่มีส่วนผสมของไนไตรท์ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุกันเสีย แต่ใส่ในปริมาณมากเกินไป
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ อย. กองระบาดวิทยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จึงได้ลงพื้นที่โรงงานเป้าหมายที่อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรีพบ น.ส.รักทวี แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ เป็นต้น
โดยวันนี้ที่เข้าไปไม่พบว่ามีการผลิต แต่พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็งเพื่อรอจำหน่าย ทางเจ้าหน้าที่สอบถามเพิ่มเติมเจ้าของโรงงานรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอกตามที่เป็นข่าวจริง แต่หลังเป็นข่าวก็ได้เลิกผลิตแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตพบฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและวัตถุดิบหลายรายการ โดยฉลากดังกล่าวไม่ได้แจ้งเลขสารบบอาหารถือเป็นฉลากไม่ถูกต้อง ส่วนสถานที่ผลิตก็ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP ได้คะแนนการประเมินเพียง 16.6% เท่านั้นมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง
กรณีมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารเนื่องจากพบปริมาณไนไตรท์เกินมาตรฐานพบว่ามีการใช้แรงงานคนตักสารไนไตรท์โดยการกะเกณฑ์คร่าวๆ ไม่ได้มีการชั่งตวงหรือวัดตามมาตรฐานแต่ตักใส่ๆ ทำให้ปริมาณไนไตรท์เกินค่าความปลอดภัย ขณะนี้สั่งปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์อาหารไว้ทั้งหมด และจากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่ามีการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ไปที่จังหวัดสมุทรสาครก่อนจะกระจายไปยังทั่วประเทศต่อ แต่ไม่ได้มีการซัดทอดว่ามีแหล่งผลิตที่อื่นอีกแต่ก็ได้ผลิตมานานแล้ว
ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 11 แรงม้า พนักงาน 8 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่เข้าข่ายการขอขึ้นทะเบียนอาหารของ อย. เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความผิด 3 ประเด็นคือ 1.เรื่องสถานที่ผลิตไม่ผ่าน GMP ปรับ 1 หมื่นบาท 2.การใช้ฉลากไม่ถูกต้องไม่มี อย. ปรับ 3 หมื่นบาท และ3.เก็บสินค้าส่งตรวจแล็บเพื่อตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน ทั้งไนไตรท์ เบนโซอิกแอซิด และสีผสมอาหาร หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานก็จะมีความผิดเรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ได้ให้ สสจ.แต่ละจังหวัดไปตรวจสอบทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้แล้วก็พบอีกหลายแห่งและดำเนินการสืบหาแหล่งผลิตสำหรับประชาชนการสังเกตรูปลักษณ์อาจจะเห็นความผิดปกติยากจึงขอให้ดูฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักเขียนระบุว่าเป็นไส้กรอกอะไร มีรูปพรีเซ็นเตอร์แต่ไม่มีตราหรือเลขสารบบ อย.จึงขอให้สังเกตเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังโรงงานผลิตไส้กรอกดังกล่าว พบว่ายังมีคนอยู่แต่ประตูเหล็กปิดไม่มีใครออกมาให้ข้อมูลกับทางผู้สื่อข่าวจากการสอบถาม ชาวบ้านแถวนั้นเปิดเผยว่าโรงงานได้มาเช่าตรงนี้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ทำลูกชิ้น ไส้กรอก มีคนงานประมาณ 10 คน และเคยนำไส้กรอกมาให้ตนลองทอดให้ลูกแต่มันมีสีแดงผิดปกติ คาดว่าจะใส่สีมากกลัวเป็นอันตราย พอลองไปนึ่งดูก็เป็นสีแดงเช่นเดียวกันจึงจะโยนทิ้งไม่ได้ให้ลูกกินแต่อย่างใดเพราะกลัวอันตราย แต่ตนก็ไม่เคยเข้าไปดูการผลิตหรือไปดูว่าเขาทำอะไรรู้เพียงแต่ว่าเขาทำไส้กรอกกับลูกชิ้นแค่นี้
ทางด้าน นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบโรงงานดังกล่าวแล้วพบว่าโรงงานดังกล่าวไม่ได้มีการจดทะเบียนขออนุญาตก่อตั้งจึงมีความผิดอยู่แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างอยู่ในขบวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กชื่อยี่ห้อ ไส้กรอกมรณะ - ลูกชิ้น - หนังหมู - หมูและไก่ยอ จากโรงงานฉาวในชลบุรี ห้ามทาน เสี่ยงอันตราย
- สยอง! ทลายแหล่งผลิต ไส้กรอกมรณะ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 7 แสนบาท
- อย.บุกโรงงานไส้กรอกพิษ พบใส่วัตถุกันเสียในปริมาณมากเกินไป
Advertisement