กพร. แจงผลสอบ เหมืองทองอัครา เตรียมรีสตาร์ททำแร่ทองคำ หลังภาคประชาชนร้องขอ

4 ก.พ. 65

กรณี เหมืองทองอัครา กลับมาเปิดอีกครั้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีภาคประชาชนขอให้ตรวจสอบบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) รวมถึงความบกพร่องในกระบวนการต่าง ๆ หลังเตรียมเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. กรณีขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การต่ออายุประทานบัตรจำนวน 4 แปลงของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด แม้การต่ออายุประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ แต่เนื่องจาก กพร. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ ในรัศมี 500 เมตร และในรัศมี 500 เมตร-3 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในช่วงปี 2558-2564 รวม 5 ครั้ง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ทุกหลังคาเรือนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน ซึ่งผลปรากฏว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ กพร. ยังได้มอบนโยบายให้บริษัท อัคราฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงมากขึ้น และกำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับ มีความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2. การเตรียมงบประมาณเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนเพียงร้อยละ 0.1 อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ต่างประเทศ ต้องเตรียมงบฯ ดังกล่าวร้อยละ 0.9 นอกจากการดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทดำเนินการด้วยความสมัครใจแล้ว บริษัทยังต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่โครงการมากกว่า 600 ล้านบาท และนำเงินเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปีละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลือสะสม 80 ล้านบาท และตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งบริษัทต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 21 ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าภาคหลวงย้อนหลัง 6 ปี (ปี 2554-2559) กพร. จัดเก็บค่าภาคหลวงทองคำและเงินในอัตราก้าวหน้าหรือประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าแร่ จากบริษัท อัคราฯ ได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท สามารถประมาณการเงินที่บริษัทต้องนำเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ดังนั้น เงินที่จะถูกจัดสรรไปเพื่อการพัฒนาชุมชนจึงมีมากกว่าร้อยละ 1.0 ของมูลค่าแร่ นอกจากนี้ เงินค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยละ 50 เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

3. ไม่มีแนวกันชนระหว่างชุมชนกับเขตเหมืองแร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการทำเหมือง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง พ.ศ. 2562 กำหนดให้พื้นที่บ่อเหมืองต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 300 เมตร โรงแต่งแร่หรือโรงประกอบโลหกรรมที่อยู่ในเขตเหมืองแร่ต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 500 เมตร

พื้นที่เก็บกักหางแร่หรือกากโลหกรรมที่อยู่ในเขตเหมืองแร่ต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 500 เมตร และพื้นที่เก็บกองมูลดินทรายต้องมีระยะห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 200 เมตร

สำหรับการต่ออายุประทานบัตรและต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ เข้าข่ายเป็นโครงการที่ต้องจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองตามประกาศดังกล่าว ซึ่งได้มีการกำหนดแนวพื้นที่กันชนที่มีระยะห่างจากชุมชนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยครบถ้วนแล้ว

4. หลีกเลี่ยงหรือหาช่องทางกฎหมายในการไม่สร้างหลักประกันและแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเหมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการอนุญาตให้เหมืองดังกล่าวกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยไม่ได้มีการกำกับดูแลที่รัดกุมเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบ อาจเป็นการสมยอมในเรื่องคดีความ แลกกับการกลับมาดำเนินการเหมืองทองในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง

บริษัท อัคราฯ ได้จัดทำแผนงานการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองตลอดอายุโครงการพร้อมงบประมาณที่ใช้เสนอ กพร. ประกอบการพิจารณาอนุญาต พร้อมวางหลักประกันสำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การพิจารณาอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ ต่ออายุประทานบัตรเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการแร่ตามขั้นตอนปกติของกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด

อีกทั้งการกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ทั้ง พ.ร.บ.แร่ 2560 และกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 ซึ่งมีมาตรการที่เหมาะสมรัดกุมและสามารถปกป้องคุ้มครองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อาจเกิดจากการทำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Baseline data) การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง (Buffer zone) การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ การวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง การทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ คณะกรรมการแร่ยังได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมประกอบการอนุญาต โดยกำหนดให้ กพร. แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้แทนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตรวจสอบการประกอบกิจการภายหลังได้รับอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- จิราพร ชวนจับตา! 31 ม.ค.นี้ ตัดสินคดี เหมืองทองอัครา ส่อมีดีลใหญ่ยกทรัพย์สินชาติแลกถอนฟ้อง?
- เพื่อไทย แถลง-ผุดแคมเปญล่าชื่อต้าน ประยุทธ์ ยกสมบัติชาติแลกผิดปม เหมืองทองอัครา
- กองทัพพม่า ทิ้งระเบิดใส่ เหมืองทอง กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ทำคนงานตายเกลื่อน 11 ศพ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส