เปิดที่มาความขัดแย้ง สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่อาจเป็นชนวนร้อน ลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งใหม่
เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกต้องจับตาในขณะนี้ สำหรับความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน เมื่อล่าสุดวันนี้(24 ก.พ.65) รัสเซีย เริ่มเปิดปฏิบัติการณ์ทางทหารในแคว้นดอนบาสของยูเครน ที่รัสเซียเพิ่งประกาศรับรองเอกราช จนเกิดเป็นความกังวลว่าอาจลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบ อมรินทร์ทีวีออนไลน์ ชวนมาย้อนดูกันว่า อะไรคือชนวนความขัดแย้งของทั้ง 2 ชาติ?
ย้อนไปสมัยสงครามเย็น
เรื่องนี้คงต้องย้อนไปสมัยสงครามเย็น ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1947 ซึ่งเป็นการปะทะระหว่างขั้วอุดมการณ์ ประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ นำโดย 2 มหาอำนาจอย่าง สหภาพโซเวียต และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นทางชาติตะวันตกได้แก่ สหรัฐฯ และบรรดาชาติยุโรป ได้จับมือกันตั้ง องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) องค์กรความร่วมมือทางทหารเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียต ภายใต้หลักการว่า หากประเทศสมาชิกประเทศถูกโจมตี จะถือว่าเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด ขณะที่ทางค่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้มีการจัดตั้ง กติกาสัญญาวอร์ซอหรือ วอร์ซอแพค ( Warsaw Pact) ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจเช่นกัน
สงครามเย็นได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นสุดในช่วงปี ค.ศ.1989 หลังกำแพงเบอร์ลิน ที่แบ่งแยกเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกได้ถูกทำลาย มาจนถึงการยุติบทบาทของวอร์ซอแพค และการล่มสลายสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1991 ทำให้ประเทศภายใต้สหภาพโซเวียต แยกตัวออกเป็นเอกราช 15 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึง ยูเครน ด้วย อย่างไรก็ดีแม้วอร์ซอแพคจะยุติทบาทลง แต่องค์กรขั้วตรงข้ามอย่างนาโต้ (NATO) ยังคงดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เอนเอียงเข้าหาตะวันตก
ภายหลังแยกออกมาจากสหภาพโซเวียต ทางการเมืองภายในของยูเครนไม่มีความชัดเจนนัก เพราะมีทั้งประชาชนที่เอนเอียงไปทางตะวันตก แต่ก็มีบางส่วนที่สนับสนุนฝั่งรัสเซีย โดยนโยบายทางการเมืองของยูเครนขึ้นอยู่กับผู้นำในขณะนั้นๆ ว่าจะหนุนรัสเซียหรือยุโรป
ในปี ค.ศ.2005 วิกเตอร์ ยุชเชนโก ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครน เขามีนโยบายการเมืองที่เอนเอียงไปทางยุโรปและพายูเครนออกห่างจากรัสเซียมากขึ้น รวมถึงการผลักดันให้ยูเครนเข้าร่วมนาโต ทำให้ในปี ค.ศ. 2008 นาโตให้สัญญาว่าจะรับยูเครนเข้าเป็น 1 ในชาติสมาชิก
ทั้งนี้ รัสเซีย มีจุดยืนไม่สนับสนุนการเข้าร่วมนาโตของยูเครนมาโดยตลอด โดยมองว่าเป็นภัยคุกคามเพราะเปิดทางให้นาโต ร่วมถึงชาติยุโรปเข้ามาประชิดชายแดนรัสเซีย
ความสัมพันธ์กับรัสเซีย
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2013 เมื่อวิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งมีนโยบายการเมืองที่เอนเอียงไปทางรัสเซีย ได้ปฏิเสธข้อตกลงการค้าเสรีกับอียู และต้องการหันไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับทางรัสเซียแทน ซึ่งทำให้ประชาชนยูเครน ที่ต้องการให้ประเทศใก้ชิดยุโรปมากขึ้นไม่พอใจ จนเกิดเป็นคลื่นการประท้วงครั้งใหญ่ที่ถูกเรียกว่า ยูไรไมดาน (Euromaidan) ในกรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวง รวมถึงอีกหลายเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันตก จากสถิติพบว่าในกรุงเคียฟ มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 8 แสนคน
กระทั่งในเดือน ก.พ.2014 รัฐสภายูเครน ลงมติถอดถอนยานูโควิชออกจากตำแหน่ง ทำให้เขาต้องลี้ภัยไปยังรัสเซียในเวลาต่อมา ซึ่งจากกรณีดังกล่าวรัสเซียได้ตอบโต้โดยการเข้ายึดครอง เขตปกครองตนเองไครเมีย ดินแดนคาบสมุทรทะเลดำ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแต่สหภาพโซเวียตได้เซ็นมอบให้ยูเครนในปี ค.ศ.1954 เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ ซึ่งในปัจจุบันประชาชนในไครเมียก็ยังเป็นเชื้อสายรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ และยังใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาหลัก
การแยกตัวจากยูเครน
ไครเมียได้มีทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะอยู่กับยูเครนต่อหรือจะไปอยู่รัสเซีย ผลประชามติปรากฏว่าประชาชนมากกว่า 95% เห็นชอบแยกตัวจากยูเครน ทำให้ไครเมียประกาศประกาศอิสรภาพและขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และรัสเซียก็ได้รับรองการผนวกรวมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศทันที แต่ทางยูเครนรวมถึงประเทศส่วนใหญ่ของโลกไม่รับรองความชอบธรรมดังกล่าว โดยมองว่ารัสเซียแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของยูเครน
ในปีเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซียในดินแดนทางตะวันออกของยูเครน ในพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮันสก์ ในแคว้นดอนบาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่มากเช่นกัน ได้ประกาศตัวเป็นกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ขอแยกประเทศออกจากยูเครนเช่นกัน จนเกิดการปะทะครั้งใหญ่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลเครมลินของรัสเซียคอยให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ จนต่อมาต้องมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพมินส์ก ถึง 2 ฉบับเพื่อให้ทุกฝ่ายหยุดยิง อย่างไรก็มีในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการปะทะกันอยู่เนืองๆ
พายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของนาโต
จนต่อมาในปี ค.ศ.2019 วโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของยูเครน เขามีนโยบายชัดเจนที่จะพายูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต ทำให้รัสเซีย ซึ่งมีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมนาโต ได้ออกมาเรียกร้องให้นาโตให้การรับรองว่าจะไม่รับยูเครนเป็นชาติสมาชิกและจะไม่ขยายอำนาจทางการทหารเข้ามาทางยุโรปตะวันออก แต่ทางนาโตไม่ให้คำตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ
จนเมื่อปลายปี 2021 รัสเซียได้ส่งทหารกว่าแสนนายเข้าประชิดชายแดนยูเครน ซึ่งแม้ทางการรัสเซียจะระบุว่าเป็นเพียงการซ้อมรบ แต่หลายฝ่ายมองว่ารัสเซียอาจจะเปิดฉากบุกยูเครนจริงๆ และก็เป็นไปเช่นนั้น เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ประกาศเซ็นรับรองเอกราชของเมืองโดเนตสก์และลูฮันสก์ ในวันที่ 21 ก.พ.65 และส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว อ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องประชาชนที่พูดภาษารัสเซีย จนเกิดเป็นเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงจะเกิดเป็นสงครามดังเช่นปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สงครามรัสเซีย ยูเครน ไบเดน สั่งคว่ำบาตรรัสเซียชุดแรก ชี้ ปูติน ไร้สาเหตุและไร้เหตุผล
- ปูติน ประกาศสงคราม สั่งกองทัพปฏิบัติการทางทหาร ลั่นอาจมีนองเลือด ยูเครน ประกาศภาวะฉุกเฉิน
- ยูเครน ผ่านร่างกฎหมาย ให้ประชาชนพก อาวุธปืน ไว้ป้องกันตัวได้